Startup Thailand
TH / EN
เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันดีว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ นี้มีความสำคัญอย่างไรกับยุคสมัยปัจจุบัน จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตอาหารต้องมีความต่อเนื่อง และมีปริมาณที่มากขึ้น รวดเร็วขึ้น แม่นยำมากขึ้น ยิ่งโลกประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และภัยสงครามยูเครน ซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรหยุดชะงัก การผลิตภายในประเทศยิ่งต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างเป็นกระบวนการที่ไม่ให้มีผิดพลาด และมีเพียง ‘เทคโนโลยี’ เท่านั้นที่จะสามารถเข้ามาอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้ อันเป็นที่มาซึ่งทำให้ ดร.ธนิกา จิตนะพันธ์ นักวิทยาศาสตร์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยค้นคว้า เพื่อหาขั้นตอนที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ก่อนจะนำไปสู่แพลตฟอร์ม ‘Biomatlink’ ระบบ Supply Chain ครบวงจร ที่จะเข้ามาช่วยให้การผลิตเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดติดขัด และคงความมั่นคงทางอาหารเอาไว้ได้
จากการวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างละเอียดสู่แพลตฟอร์มเพื่อการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ การเพาะปลูกคือหลักฐานแรกแห่งอารยธรรมมนุษยชาติ การรู้ฤดูกาลเก็บเกี่ยว การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ทำให้มนุษยชาติสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในปัจจุบันเพียงแค่รู้ฤดูกาลอาจจะไม่เพียงพอ เมื่อความต้องการมีปริมาณที่สูงขึ้น การค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้ได้ ‘ผลลัพธ์’ ที่มากขึ้นและ ‘แน่นอน’ คืออีกระดับขั้นของวิทยาศาสตร์การเกษตรที่ ดร.ธนิกาได้ทำการศึกษา จนนำมาสู่ Biomatlink
‘การที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เริ่มต้นทดสอบเพาะปลูกและเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลสถิติ การให้ปุ๋ยแบบต่างๆ อะไรที่สามารถควบคุมได้หรือไม่ได้ และจากจุดนี้พอได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับพืชชนิดต่างๆ ก็เริ่มสร้างแพลตฟอร์ม โดยอาศัยเทคโนโลยี Internet of Things เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้แรงงานคน เก็บเป็นข้อมูลทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพื่อคำนวณและวิเคราะห์ ประเมินการเติบโตล่วงหน้า รวมไปถึงวันเวลาเก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งยังสามารถเชิญนักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ มาช่วยในด้านต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น’ ดร.ธนิกากล่าวอธิบาย
ไม่ใช่เรื่องของโชคช่วย ไม่ใช่เรื่องของดินฟ้าอากาศเป็นใจ แต่เป็นการคำนวณจากค่าสถิติที่ผ่านการทดสอบเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษ ทั้งรูปแบบการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย ชนิดพันธุ์พืช ที่ ดร.ธนิกากล่าวว่า “สามารถคำนวณปริมาณผลิตผลและกะเกณฑ์ ‘รายได้’ ของเกษตรกรที่จะได้ถึง 60-70% เลยทีเดียว”
พึ่งพาอาศัย เติบโตไปพร้อมกัน
เมื่อได้รูปแบบและแนวทางที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ‘การประยุกต์ใช้’ ในรูปแบบของโมเดลธุรกิจที่ ดร.ธนิกาได้กล่าวว่า เป็นไปในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและรับซื้อจากไร่เกษตรกร เพื่อนำส่งโรงงานในปริมาณที่แน่นอนของแต่ละการเก็บเกี่ยว
‘จะเป็นในแบบความร่วมมือกันค่ะ อย่างผลผลิตที่เรารับซื้อนั้นเกิดจากการ Matching กับเกษตรกร ตกตันละ 50-100 บาท แล้วแต่ความใกล้ไกลจากโรงงาน ค่าขนส่งเราฟรี รวมถึงค่า Matching กับโดรนท้องถิ่น ไร่ละ 50 บาท ซึ่งพอรวมจำนวนไร่เข้าไปเยอะขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลง ส่วนที่ช่วยให้เกษตรกรประหยัดได้จะถูกนำมาบริหารจัดการเป็นงบในการวิจัย ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มปุ๋ย เพิ่มค่าฮาร์ดแวร์ที่ใช้ ก็จะช่วยให้การบริการสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น ทุกอย่างจะดำเนินการผ่านข้อมูลที่วิเคราะห์มาแล้วทั้งสิ้น’ ดร.ธนิกากล่าวเสริม
แน่นอนว่าการพัฒนาที่ได้รับกลับมาจะยิ่งทำให้ผลิตผลต่อไร่นั้นดีขึ้น มากขึ้น และก่อให้เกิดเป็นรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นไปในทางเดียวกัน เป็นจุดที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน
COVID-19 กับการขยับขยาย “สองจังหวะ”
ภายใต้สภาวการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างความกังวลให้กับหลายภาคธุรกิจ สำหรับ Biomatlink นั้นอาศัยจังหวะนี้ เพื่อเสริมสร้างและต่อยอดความช่วยเหลือภาคเกษตรกรให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
‘ในขณะที่ทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดความขาดแคลนทางด้านอาหาร ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์คาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบสามเท่า และส่งผลต่อการผลิตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง จากเดิม 2 บาท/กก ปัจจุบันราคาพุ่งไปถึง 4 บาท/กก นั่นหมายความว่าเป็นโอกาสดี’ ดร.ธนิกากล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าว
แต่ไม่เพียงแค่ราคาของผลิตผลที่สูงขึ้น Biomatlink ยังได้ใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาในแง่ ‘คุณภาพ’ ของแพลตฟอร์มให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง
‘ก็เป็นช่วงนั้นเองที่ได้เปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ให้การตรวจรับอยู่ในระดับ 1 คันไม่เกิน 15 นาที ทั้งการใช้ RFID, กล้อง AI ตรวจวัดแบบ Facial Recognition, เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์แป้งอัตโนมัติ ทั้งหมดเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยสรุป วิกฤติ COVID-19 เป็นตัวช่วยเร่งความต้องการสินค้า และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่ดีขึ้น จะมองว่าเป็นการขยับขยายในเชิงคุณภาพก็ว่าได้’
ต่อยอดความร่วมมือ สู่ตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่า
Biomatlink ในวันนี้ได้ขยายความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยได้รับความช่วยเหลือทั้งจากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ในด้านเงินทุนและโอกาสด้านการพบปะกับคู่ค้าใหม่ และทาง SCG ในการสร้างโรงรับซื้ออัจฉริยะพร้อมประกอบเสร็จ ที่มีเป้าหมายจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็น 3,200 จุดทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่า 9 ล้านไร่ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงโอกาสทางธุรกิจในต่างแดนที่เข้ามา ซึ่งเป็นประตูไปสู่ตลาดสากล
‘เป็นจังหวะที่เหมาะมากๆ เพราะเรากำลังจะทำข้อตกลงร่วมกับประเทศการ์นา ในความช่วยเหลือของธนาคารกรุงไทย เราก็ได้ไปเสนอระบบของ Biomatlink ซึ่งทางผู้ดำเนินธุรกิจด้านอาหารของการ์นาก็ต้องการให้นำระบบดังกล่าวมาใช้กับการคัดแยกมันสำปะหลังของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่จะเข้าไปสู่กลุ่มประเทศที่มีมันสำปะหลังทั่วโลก และได้ทำความตกลงความร่วมมือกับ SCG และ JWD ในแง่การขนส่งทั่วประเทศอีกด้วย’
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/biomatlink/ และ https://biomatlink.com/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Caption Facebook
เมื่อความมั่นคงทางอาหารเรียกร้องให้กระบวนการผลิตมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และปริมาณที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เทคโนโลยีที่ครบวงจรเท่านั้นที่จะตอบสนองความต้องการนี้ได้ และเป็น ‘Biomatlink’ ที่เข้ามาเติมเต็มในจุดที่ขาดหายไปเหล่านี้