Green Passive Income Ideas YouTube Thumbnail - 18

ViaBus แอปฯ ติดตาม ‘รถโดยสารสาธารณะ’ ตอนนี้อยู่ที่ไหน? รู้เลย!

ViaBus แอปฯ ติดตาม ‘รถโดยสารสาธารณะ’ ตอนนี้อยู่ที่ไหน? รู้เลย!

ViaBus เพื่อนเดินทาง ช่วยทุกการเดินทางให้ วางแผนได้ ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องต้องทนกับการรอคอย อีกต่อไป
ทำความรู้จัก ViaBus Application  ที่จะบอกคุณได้ว่า รถโดยสารสาธารณะที่กำลังรออยู่นั้น ถึงไหนแล้ว!

ทุกการเดินทาง มีความหมาย  … วันนี้ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ คุณมีตัวช่วยที่สุดยอด เพราะตอนนี้ ‘สตาร์ตอัพไทย’ สร้าง ‘การรอคอยที่วางแผนได้’ กับ ViaBus (เวียบัส) Application เพื่อติดตามและนำทางขนส่งโดยสารสาธารณะแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ชีวิตและการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ สะดวก และง่ายกว่าแต่ก่อน มาก!!! หากจะว่ากันที่ความ ‘ง่าย’ ก็แค่เพียงคุณมีมือถือ จะใช้ระบบ iOS หรือ Android ก็ไม่มีปัญหา เพราะเมื่อทุกคนโหลด ViaBus Application มาเป็นเพื่อนเดินทางแล้ว ทุกคนก็จะวางแผนง่ายตั้งแต่ออกจากที่พัก และรวมถึงระหว่างยืนรอ เห็นแล้วว่าอีก 10 นาที รถกำลังมาถึง ก็อาจจะใช้เวลาเล็กน้อยนั้น ปลดเปลื้องภารกิจส่วนตัวใดๆ ได้ 

ต้องปรบมือรัวๆ ให้กับ อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของนวัตกรรม ผู้ซึ่งให้คอนเซปต์ ViaBus ว่ามาเป็น ‘เพื่อนเดินทาง’ ที่ช่วยวางแผนได้ เป็นเรื่องจริง!! บอกได้เลยว่า นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของ Deep Tech Startup ในฐานะเป็นแพลตฟอร์มด้านการขนส่งขนส่งโดยสารสาธารณะ ซึ่งถ้าจะนับการบริการกันจริงๆ ‘อินทัช’ ก็คิดให้แล้ว ทั้ง Ecosystem เนื่องจากไม่ใช่แค่ ViaBus ที่ช่วยให้ข้อมูลการเดินทางกับผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังมี ‘ระบบป้ายโดยสารอัจฉริยะ’ และ ‘ระบบบริหารการเดินรถ’ เรียกได้ว่า ครอบคลุมหมดแล้วตั้งแต่ผู้เดินทาง คนขับ และผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ และอีกหนึ่งความสำเร็จ ก็คือ “การมียอดผู้ใช้บริการในปัจจุบัน มากกว่า 6 ล้านคน”

แจ้งอีกนิด…ขนส่งสาธารณะ ไม่ได้มีแค่รถโดยสารสาธารณะ ที่เราเรียกกันว่า ‘รถเมล์’ เท่านั้น แต่ว่า ยังเชื่อมโยงทุกระบบคมนาคมเข้าไว้ด้วยกันในแอปฯ เดียว ทั้งรถเมล์ รถสองแถว รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ เรือด่วน เรือข้ามฟาก รถตู้ระหว่างจังหวัด โดยมีบริการครอบคลุมกว่า 70 จังหวัด 

ยังไม่พอ!!! เพราะแอปพลิเคชัน ยังรองรับทั้งรถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถภายในหน่วยงาน เช่น รถมหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล คอนโด โรงงาน ฯลฯ นี่แหละ ระบบขนส่ง และระบบบริหารจัดการช่วยทั้งผู้โดยสาร ผู้ประกอบการ บริหารเวลา-การเดินทาง และการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“เราได้เริ่มจากจุดเล็กๆ ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบันเราได้ขยายผลไปยังขนส่งสาธารณะประจำทางต่างๆ ในประเทศไทย และล่าสุดได้มีการขยายไปยังประเทศมาเลเซีย เรามองว่าปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมุ่งที่จะขยายผลไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ฝากไปถึงผู้ประกอบการที่สนใจเข้าใช้บริการของ ViaBus ก็ติดต่อร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ การบริการก็จะยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น” อินทัช กล่าว

 

ย้อนดูจุดเริ่ม ViaBus

คนเรา เมื่อมีประสบการณ์ตรง ก็ย่อมคิดแก้ปัญหาได้ตรงจุด… โดย ‘อินทัช’ เองนั้น เล่าอย่างภูมิใจว่า ผุดไอเดียเวียร์บัส ก็ตอน ‘ตกรถ’ Chula Pop Bus หรือรถโดยสารสาธารณะภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้วันนั้น ตัวเองต้องสาย วินาทีที่พลาดเกิดความคิดว่า “ถ้าเราสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่ารถจะมาถึงเมื่อไหร่ก็คงจะดี” จากวันนั้น ตัวเองและเพื่อนๆ จึงร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน Chula Pop Bus เพื่อแก้ปัญหาการรอรถภายในจุฬาฯ

และนั่นก็เป็นความสำเร็จแรก ที่ทำให้ ‘อินทัชและเพื่อน’ ยิ้มได้ เพราะเมื่อเริ่มทดลองใช้ ก็มีเสียงตอบรับดีมาก มีคนดาวน์โหลดแอปฯ มากถึง 4,000 คน ผ่านไปหนึ่งปีมีคนโหลดมากขึ้นอีกสิบเท่า เป็น 40,000 คน คนโหลดแอปฯ ก็ไม่จำกัดเพียงชาวจุฬาฯ แต่มีคนในพื้นที่สามย่านและสยาม ซึ่งใช้บริการรถโดยสารภายในจุฬาฯ ด้วย แอปฯ Chula Pop Bus จึงเปรียบเสมือนต้นแบบและแรงบันดาลใจ ทำให้คิดพัฒนา ViaBus มาเป็นเพื่อนเดินทางคนภายนอก ขยายผลและรองรับการทำงานระบบขนส่งโดยสารประจำทางในระดับมหภาค 

และหลังจากนั้น ‘ViaBus’ : Deep Tech Startup ก็กำเนิดก่อเกิดขึ้น โดย ‘อินทัช’ ร่วมกับเพื่อน ธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ และ ธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร ซึ่งเริ่มมาจากแรงสนับสนุนจาก CU Innovation Hub ที่ช่วยทั้งเรื่องของโอกาส เงินทุนเริ่มต้นในการทดลองนวัตกรรม และได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

“พวกเราได้พัฒนาและทดสอบนวัตกรรมเป็นเวลาประมาณ 2 ปี กับผู้ใช้งานจริงหลายหมื่นราย จึงเปิดใช้งานในปี 2561 และพัฒนามาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยตอนนี้ได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. …ผมคิดว่าความสำเร็จของ ViaBus มาจากการได้รับโอกาส เงินทุน และ passion ที่ทำให้พวกเราสามารถเริ่มต้นได้ และไม่ย่อท้อต่อปัญหาต่างๆที่เข้ามาในระหว่างทาง”

เมื่อมีความสามารถ มีแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี ผลงาน‘ViaBus Application ’ จึงสร้างประโยชน์ให้ระบบขนส่งมวลชน และพาให้ได้รับรางวัลหลากหลาย 

 – Good Design Award 2023

 – Thailand’s Design Excellence Award (DEmark) 2023 

 – Forbes 30 under 30 2021

 – Smart City Solution Award 2022 in Smart Mobility category (Thailand)

 – ชนะเลิศ (ทีม ViaBus) ในโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการ พัฒนาโมบาย แอปพลิเคชัน ภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 (MEGA2015) ในประเภทสุดยอดแนวคิด, ปี 2016

นี่แหละ ‘รางวัลชีวิต’ ของนักคิด ผู้ทำให้ทุกการเดินทาง ‘วางแผนได้’ 


ช่องทางการติดต่อ 

ViaBus Application: https://www.facebook.com/viabusapp , viabus.co 

บทความนี้อยู่ภายใต้โครงการ Startup Thailand Connext สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Green Passive Income Ideas YouTube Thumbnail - 16

The LivingOS และ Urbanice Property Platform เพื่อบ้าน-การอยู่อาศัย ง่ายขึ้น

The LivingOS และ Urbanice Property Platform เพื่อบ้าน-การอยู่อาศัย ง่ายขึ้น

The LivingOS และ Urbanice อีกก้าวในการเติบโตของสตาร์ตอัพไทย ผนึกกำลังสร้างจุดแข็ง
ชี้จุดเด่น เป็นพร๊อพเพอร์ตี้ แพลตฟอร์ม ตอบโจทย์ครบ งานนิติบุคคล เรื่องบ้านและการอยู่อาศัย
ให้ผลลัพธ์ บริหารจัดการทุกสิ่งในสังคมที่อยู่อาศัย (โครงการบ้าน-คอนโดฯ) เป็นไปอย่างง่าย ลูกบ้านสะดวก

ชูความเก่งแก้ปัญหาของ 2 สตาร์ตอัพ ด้าน Property Tech ที่ผนึกกำลังแก้ปัญหาการอยู่อาศัยในสังคมสังคมที่อยู่อาศัย (โครงการบ้าน-คอนโดฯ)  ที่ในยุคโควิดต้องบอกว่า วิถีชีวิตคนเปลี่ยนแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งการที่คนเราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน ย่อมรู้ดีว่า  ปัญหาใหญ่ของการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมโครงการบ้านจัดสรร – คอนโด คืออะไร ต้องการความช่วยเหลือด้านไหน ในฐานะผู้แก้ปัญหาจะต้องทำสิ่งใดออกมา เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหา-ขจัดอุปสรรค์การใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของ Urbanice สตาร์ทอัพที่ทำแอปพลิเคชันบริหารจัดการและสื่อสารภายในคอนโดฯ – หมู่บ้านจัดสรร ภายใต้ชื่อบริษัท เออร์เบิน ลิฟวิ่ง เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาระบบ Urbanice

โดย ณ ขณะนั้น Urbanice ได้ชื่อว่าเป็น ‘1 ในความปกติใหม่’ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตสังคมการอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี จากการเป็นแอปพลิเคชัน ช่วยบริหารจัดการพัสดุในคอนโดฯ ความยุ่งยากในการแจ้งเตือนค่าน้ำ ค่าส่วนกลาง และเก็บหลักฐานการชำระเงินของลูกบ้าน ปัญหาการสื่อสารข้อมูลไม่ทั่วถึงระหว่างลูกบ้านและนิติบุคคลฯ ไปจนถึงภาระงานของพนักงานที่ทวีความหนักหน่วงตามจำนวนผู้พักอาศัยทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งสิ่งนี้ Ubanice สามารถจัดการได้เรียบร้อย

แต่ด้วยเพราะในตลาด ยังมีสตาร์ทอัพ Property Tech ที่จะตอบโจทย์การบริการได้อีกมาก โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่อย่าง The LivingOS ของบริษัท เดอะ ลีฟวิ่ง โอเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่พัฒนาโซลูชันเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะนี้มีโครงการที่ดูแลอยู่กว่า 3,000 โครงการทั่วประเทศ มีลูกบ้านมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมตลาดมากที่สุด และมี user รวมมากกว่า 5 แสนคน และ มี Monthly Active User (MAU) ประมาณ 300,000 users ต่อเดือน เป็นแอพที่เข้าถึงผู้อยู่อาศัยโดยตรงมากที่สุดในประเทศไทย 

ซึ่ง The LivingOS ยังต้องการหาพันธมิตรให้มากขึ้น เพื่อขยาย Ecosystem ให้กับ Property Platform มาตอบโจทย์การอยู่อาศัยให้กับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกับนิติบุคคล และลูกบ้าน และจะรวมทุกๆ บริการเรื่องบ้านและการอยู่อาศัยไว้ในที่เดียว ซึ่ง Urbanice ก็ตอบโจทย์ จึงเกิดการควบรวม Urbanice เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ The LivingOS รวมเป็น The LivingOS และ Urbanice เมื่อเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา ภายใต้การนำของ 2 ผู้บริหาร คือ นางสาวธนาวดี เชี่ยวชาญโชคชัย CEO (Chief Executive Officer) บริษัท เดอะ ลีฟวิ่ง โอเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายเจมส์ พฤทธิวรสิน CPO (Chief Product Officer) บริษัท เดอะ ลีฟวิ่ง โอเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด 

ชู The LivingOS และ Urbanice แพลตฟอร์มตอบโจทย์ครบ

นางสาวธนาวดี เชี่ยวชาญโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เดอะ ลีฟวิ่ง โอเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เผย The LivingOS และ Urbanice ซึ่งมีระบบที่บริษัทบริหารนิติ และ ผู้อยู่อาศัยต้องการใช้ อย่างครบครัน โดย Hero Product ของเรา คือ ระบบบริหารจัดการและระบบบัญชีสำหรับหมู่บ้านและคอนโด (Online Property Management System) ที่มีฟีเจอร์รองรับทั้งหมู่บ้านและคอนโด เชี่ยวชาญด้านการจัดการดูแลเงินลูกค้าผ่านระบบเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี

และยังมี rising star product ระบบที่จัดการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของคนในหมู่บ้านและคอนโด หรือ U-VISIT คือระบบจัดการผู้มาติดต่อสำหรับป้อมรปภ.หน้าโครงการ (Visitor Management System) ซึ่งทำงานร่วมกับระบบอื่นๆทั้ง ERP และ Mobile Application

อีกทั้งเรายังเป็น Platform ที่รวบรวมสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในหมู่บ้านและคอนโด จากมากกว่า 50 พาร์ทเนอร์ รวมไว้ในแอปเดียว เช่น บริการฝากส่งพัสดุของลูกบ้านที่นิติฯ (Smart Parcel), สินค้าและบริการคุณภาพสำหรับคนที่อยู่ในหมู่บ้านและคอนโด ซึ่งคุณสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ได้ในไม่กี่คลิกบนทั้ง 2แฟลตฟอร์ม LivingOS & Urbanice
และนี่คือผลลัพธ์ของความมุ่งมั่นตั้งใจในการให้บริการเรื่องบ้านและการอยู่อาศัย ที่คาดการณ์ได้เลยว่า เราจะได้เห็นก้าวใหม่ ฟีเจอร์ใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ตอบโจทย์วงการอสังหาฯ ของไทย ในอนาคตอย่างแน่นอน 

ช่องทางการติดต่อ 

TheLivingOSและUrbanicePlatform:https://www.facebook.com/thelivingos, thelivingos.com

บทความนี้อยู่ภายใต้โครงการ Startup Thailand Connext สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Green Passive Income Ideas YouTube Thumbnail - 11

Shin Shiba มิติใหม่วงการโรงแรม ใช้ ‘พนักงานต้อนรับเสมือนจริง’

Shin Shiba มิติใหม่วงการโรงแรม ใช้ ‘พนักงานต้อนรับเสมือนจริง’

• ชินชิบะ สตาร์ทอัพโรงแรมไทย สร้าง SHIN Platform พลิกโฉมวงการโรงแรมริเริ่มใช้ ‘พนักงานต้อนรับเสมือนจริง’ ลูกค้าเข้าพักบริการตัวเอง 100%
• ชี้จุดเด่น ลดต้นทุน และช่วยการบริหารจัดการโรงแรม เป็นไปได้ง่าย
• ตั้งเป้า ขยายเครือโรงแรมชินทั่วไทย-ต่างประเทศ เริ่มบุกญี่ปุ่นแล้ว

ยุคโควิด 19 ระบาด สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจบริการ อย่างโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ที่ขณะนั้นกล่าวได้ว่า ห้วงเวลาของการต้องหยุดประกอบกิจการยาวนานถึง 2 ปีกว่า ทำให้เกิดการล้มหายตายจากของธุรกิจบริการจำนวนมาก โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กซึ่งมีสายป่านสั้น… แต่เชื่อหรือไม่? ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำที่แม้ไม่ใช่โควิด แต่ยังทำให้คนต้องเว้นระยะห่างอีกครั้ง ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กจะอยู่ได้ ไม่ต้องรับความรู้สึกดิ่งเหวอีกต่อไป อันเนื่องมาจากขณะนี้ มีสตาร์ทอัพคิดระบบการบริการรูปแบบใหม่ให้แล้ว สิ่งนั้นคือ ระบบการบริหารจัดการโรงแรมที่ ‘ไม่ใช้พนักงาน’ พร้อมให้ ‘ลูกค้าบริการตัวเอง’ หรือ Self Service 100% ภายใต้ชื่อ SHIN Platform 

SHIN Platform ทำงานอย่างไรบ้าง?

แสงตะวัน อ่อนน่วม CEO บริษัท ชิบะรูม จำกัด สตาร์ทอัพ ผู้พัฒนา SHIN Platform เผยว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงตั้งแต่การบริการของพนักงานต้อนรับ ลงลึกถึงการบริหารจัดการโรงแรมในทุกๆ ส่วน ซึ่ง SHIN Platform จะตอบโจทย์ได้หมด จากโจทย์ข้อใหญ่ที่กล่าวข้างต้น หากทุกคนต้องเว้นระยะห่าง เราจึงคิด ‘ไม่มีพนักงานต้อนรับ’ และให้ลูกค้าบริการตัวเอง 100% ซึ่งข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะปล่อยให้ลูกค้าโดดเดี่ยว เพราะทางโรงแรมมีพนักงานต้อนรับเป็นน้องโรบอท ที่เราเรียกอย่างเป็นทางการว่า พนักงานต้อนรับเสมือนจริง (Virtual Reception) หรือคือ ‘ตู้คีออส’ นั่นเอง โดยตู้นี้เมื่อกดสตาร์ท จะมี ‘น้องฮานะ’ มาคอยให้ข้อมูล ซึ่งโรงแรมชินชิบะ (Shiba Hotel) หรือ SHIBA ROOM เริ่มนำมาใช้ที่สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่แรก และปัจจุบันมีให้บริการที่ชิบะโฮเทลในทุกสาขา ตั้งแต่การเช็กอิน ยันเข้าห้องพัก อย่างไม่ยาก

“เราเปิดให้บริการพนักงานต้อนรับเสมือนจริงสาขาแรกที่ ชิบะรูม สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายใต้

แนวคิด ‘Self Service Budget Hotels’ เป็นโรงแรมที่ไม่มีพนักงานคอยให้บริการ ลูกค้าที่มาใช้บริการก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัด หลายคนชี้ไปถึงการดีไซน์ภายใน ว่า สวยถูกใจ สไตล์ญี่ปุ่น แง่การให้บริการก็อย่างที่แจ้ง คือทุกอย่างจะถูกออกแบบมาให้แขกที่เข้าพักสามารถบริการตัวเอง (Self Service) ได้เองทั้งหมด ซึ่งจากกระบวนการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยก็ทำให้การบริหารโรงแรมในเครือชิน ลดต้นทุนด้านบริหารจัดการไปได้มาก เพิ่มรายได้ ลดปัญหาด้านพนักงานกะกลางคืน ที่ต้องมาประจำตลอดเวลา และอีกส่วนที่สำคัญคือ สามารถมีเวลาไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ของโรงแรมต่อได้ หากคิดขยายสาขาก็ทำได้ง่ายขึ้น”

SHIN Shiba เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการโรงแรมแล้วว่า นอกจากการขายระบบ หรือแพลตฟอร์มให้เพื่อนๆ ในวงการโรงแรม-ที่พักซื้อระบบไปใช้แล้ว ยังมีอีกส่วนที่สำคัญคือ “การรับบริหารโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีจำนวนห้องอยู่ระหว่าง 14-100 ห้องอย่างเต็มรูปแบบ” ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ว่าเราจะให้บริการอยู่ที่ไหน ชิบะ เน้นสร้างมาตรฐานการบริการของโรงแรมให้อยู่ในระดับเดียวกันทุกสาขา นอกจาก พนักงานเสมือนจริง บนตู้คีออสแล้ว ยังใช้ การบริหารและการจัดการแบบส่วนกลาง (Centralized Operation) ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโรงแรม และเพิ่มประสิทธิภาพของการขาย เป็นการช่วยทำงานแทนเจ้าของได้เป็นอย่างดี ขณะที่ผู้ใช้บริการเข้าพัก ก็ได้ห้องพักที่ดีมีมาตรฐานในราคาประหยัด

พันธมิตร SHIN SHIBA 

จากชื่อเสียงที่รู้กันในวงการ ทำให้ปัจจุบันโรงแรมชินชิบะ ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของโรงแรมในการบริหารงานและเริ่มมีโรงแรมในเครือแล้ว 2 โรงแรม รวมถึงมีเจ้าของโรงแรมที่เข้ามาพูดคุยและอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอยู่ 8 โรงแรมทั่วประเทศไทย โดยมีทั้งที่จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ ขอนแก่น ภาคใต้ที่จังหวัดตรัง ภูเก็ต ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ที่ย่านเยาวราช เป็นต้น โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารโรงแรม ทั้งภายใต้แบรนด์ของ SHIN Shiba และการนำระบบพนักงานเสมือนจริง (Virtual Reception) เข้าไปใช้ โดยที่ยังเป็นแบรนด์ของเจ้าของโรงแรมเอง ซึ่งนี่ก็คือ ความตั้งใจที่จะขยายเครือข่ายแบรนด์โรงแรม SHIBA ROOM ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นี่แหละ นวัตกรรมช่วยเปลี่ยนวิกฤตเก่า สร้างโอกาสใหม่…และเชื่อว่า จะมีโรบอทที่ตอบโจทย์มนุษย์และธุรกิจ เกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งสตาร์ทอัพไทย ถือว่า แก้วิกฤต-ปิดจบปัญหาธุรกิจบริการกับการต้องเว้นระยะห่างไปได้แล้ว แถมยังต่อยอดให้ตัวเอง และธุรกิจประเภทเดียวกัน ได้ลดค่าใช้จ่าย มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น รวมถึงผู้ขาดประสบการณ์บริหารโรงแรม หากต้องการมีธุรกิจเล็กๆ แต่ยังขาดความชำนาญ ก็มาใช้แพลตฟอร์ม SHIBA นี้ได้เช่นกัน

ขยายจุดเด่น SHIBA Platform

ทั้งนี้ ไม่เพียงการบริหารโดยระบบ ‘พนักงานเสมือนจริง’ (Virtual Reception) เท่านั้นที่จัดว่าเป็นจุดเด่น แต่ SHIBA Platform ยังมีระบบ IT อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงแรมอย่างครบวงจรอีก ไม่ว่าจะเป็น PMS, POS, Reputation Management, Channel Manager, HR, etc. ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้กล่าวได้ว่า เจ้าของธุรกิจที่มาเป็นพาร์ตเนอร์ จะไม่ต้องเสียเวลาติดต่อตัวแทนการขายใดๆ เอง และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านระบบ IT เพิ่มแต่อย่างใด

ถือได้ว่า เป็นอีกสตาร์ทอัพดาวรุ่งพุ่งแรง อีก 1 ในผู้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่นำมาพัฒนาระบบ Virtual Reception จนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้น ยังร่วมแข่งแข่งขันรายการนิลมังกร โครงการ Brain Power : พลิกวิกฤตโรงแรมด้วยนวัตกรรม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย รุ่นที่ 2  และล่าสุด ยังได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 อีกรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ รางวัลการันตีมากขนาดนี้ ก็ไม่แปลกใจที่นวัตกรรมบริการที่ทำขึ้นได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะกับพันธมิตรที่คาดการณ์ได้ว่า จะมีมากขึ้นต่อเนื่อง อย่างน้อยนับจากนี้ เจ้าของเองก็มุ่งมั่นตั้งใจขยายสาขาเครือโรงแรมชินชิบะ ไปยังหัวเมืองหลักทั่วประเทศไทยแล้ว พร้อมกับเดินหน้าเปิดโรงแรมที่พักในเครือชินฯ ที่ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ช่องทางการติดต่อ 

SHIBA Platform: https://www.shibaroomth.com/

บทความนี้อยู่ภายใต้โครงการ Startup Thailand Connext สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปก1

Nayoo แพลตฟอร์มรวมพล คนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

Nayoo แพลตฟอร์มรวมพล คนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

• สตาร์ทอัพไทย สร้างแพลตฟอร์ม Nayoo รวมอสังหาริมทรัพย์แต่ละจังหวัด เพื่อคนซื้อ-ขาย ทำธุรกิจ เข้าถึงอสังหาฯ ง่าย
• ชี้จุดแข็ง เป็นศูนย์รวมครบ จบที่เดียว ตอบทุกการค้นหา และเฟ้นทำเลศักยภาพ
• เบื้องต้น บริการฐานข้อมูล 9 จังหวัด อนาคตขยายคลุมทั้งประเทศ
เพราะเรื่อง ‘ที่อยู่อาศัย’ เป็นเรื่องของทุกคน และเป็นความจำเป็นของทุกชีวิต หากจะกล่าวถึงวงการที่อยู่อาศัย ก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงตั้งแต่ คนหาที่พัก คนคิดสร้างบ้าน คนทำธุรกิจซื้อ-ขาย-เช่า และในระบบนิเวศอีกมากมาย เรียกว่า วงการนี้ใหญ่โตมาก ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจประเทศด้วยทางหนึ่ง นั่นจึงเป็นที่มาให้เกิดแพลตฟอร์ม Nayoo (น่าอยู่) กับคอนเซปต์ที่น่าสนใจ และถ้าจะคอนเฟิร์มกันจริงๆ ก็ต้องเข้าไปทำความรู้จัก
Nayoo เป็นแพลตฟอร์มสำหรับค้นหาที่อยู่อาศัย พัฒนาขึ้นโดยสตาร์ทอัพไทย ชื่อ ภัคณัฏฐ์ บุญเชิดชัยยันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น่าอยู่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเล็งเห็นแล้วว่า ตลาดที่อยู่อาศัยเป็นตลาดขนาดใหญ่ ในท่ามกลางความต้องการของผู้คนซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดก็จะมีประเภทของผู้ต้องการที่อยู่อาศัย ทั้งแบบชั่วคราว และถาวร/ระยะยาว โดยแบบชั่วคราว เช่น การเช่าที่พักรายเดือน รายปี ซึ่งก็จะมีประเภทอพาร์ตเมนท์ คอนโดมิเนียม บ้าน หรือถ้าแบบระยะยาว ก็มีทั้งบ้าน ตึก อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งในตลาดก็มีจำนวนมาก… แง่ของผู้มีความต้องการ การมานั่งค้นหาในแต่ละเจ้า อาจต้องใช้เวลานาน จะดีกว่าไหม? ถ้ามีผู้รวบรวมไว้ให้ดูแล้ว… นั่นจึงเป็นที่มาให้ Nayoo คิดอำนวยความสะดวก “เป็นศูนย์รวมคนซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ รวมอสังหาริมทรัพย์ทุกๆ ประเภทในทำเลศักยภาพ ที่กระจายตัวในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไว้ในที่เดียว” แพลตฟอร์ม Nayoo ตอบโจทย์การค้นหาอสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้าง?
ต้องบอกว่า เมื่อแพลตฟอร์ม Nayoo (น่าอยู่) พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ที่ต้องการหาที่อยู่อาศัย ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย มีให้เลือกครบทั้งบ้านโครงการใหม่ คอนโด ทาวน์โฮม ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์มือสอง รวมถึงห้องเช่าและหอพัก ที่หาข้อมูลได้ครบในแพลตฟอร์มเดียวกัน ตอบโจทย์การหาที่อยู่อาศัยในแต่ละจังหวัดได้ครบทุกมิติ ทำให้คนหาบ้านได้ที่อยู่อาศัยในราคาและการบริการที่ดีที่สุด พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ที่เน้นการเข้าถึงและช่วยเหลือคนหาที่อยู่อาศัยในแต่ละจังหวัดได้ดียิ่งขึ้น

โดยปัจจุบัน น่าอยู่ ให้บริการ 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่
1. แพลตฟอร์มน่าอยู่ เป็นแพลตฟอร์ม (เดิม) สำหรับค้นหาที่อยู่อาศัย เป็นศูนย์รวมคนซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ที่กระจายตัวในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน อัพเดท และใช้งานง่ายที่สุด โดยมี Partner และทีมงานอยู่ในทุกจังหวัดที่ขยายแพลตฟอร์มไป ช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงข้อมูลทรัพย์ที่น่าเชื่อถือ น่าอยู่ให้บริการค้นหาที่อยู่อาศัยครบ 4 หมวด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการครอบคลุมครบทั้งหมดประกอบด้วย
1) หาซื้อโครงการใหม่
2) หาซื้อบ้านมือสอง
3) หาเช่าอสังหาฯ/หอพัก
4) หาบริษัทรับสร้างบ้าน
และนอกจากนี้ ในปัจจุบันได้ขยายแพลตฟอร์มการให้บริการเพื่อขยายตลาดการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มบ้านพร้อม ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างผู้ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ นายหน้า และผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการทำงานของนายหน้าและช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำการตลาดมากขึ้นอีกด้วย
2. แพลตฟอร์มบ้านพร้อม เป็นแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการขยายตลาดการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการในการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขายและนายหน้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อช่วยให้มีการทำงานง่ายขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการทำงานของนายหน้า ทำให้ผู้ขายสามารถติดตามการทำงานของนายหน้าได้ อีกทั้งช่วยสร้างความมั่นใจในการซื้อขายทรัพย์ผ่านนายหน้า
ซึ่งก็ต้องถือว่า Nayoo เป็นหนึ่งในหลายๆ ร้อยสตาร์ทอัพไทย ที่ฉายแสงแห่งความสำเร็จ มีแนวคิดเป็นที่น่าสนใจ คอนเฟิร์มจากการได้รับทุน Open Innovation ในการพัฒนาโครงการ ระบบวิเคราะห์คุณภาพอสังหาริมทรัพย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ในปี 2565 และจากนั้นห่างไปอีกแค่ 2 ปี (2567) ยังได้รับทุน Regional Market Validation ในการขยายตลาดด้วยโครงการแพลตฟอร์มบ้านนายหน้า เป็นที่มาให้เราได้เห็นผลงานของ Nayoo ในวันนี้ ที่ตอบโจทย์คนวงการอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี
นี่คือ นักพัฒนาตัวจริง ผลงานใช้ได้จริง เปิดบริษัทมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีจุดเริ่มต้นที่ ขอนแก่น … ใช้ระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี รวมอสังหาริมทรัพย์ไว้ให้คนช๊อป ให้คนต่อยอดทำธุรกิจถึง 9 จังหวัดแล้ว ซึ่งได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และพิษณุโลก…ซึ่งแน่นอนว่า อนาคตก็จะขยายพื้นที่อสังหาฯ เพื่อการค้นหาเพิ่มหลายจังหวัดมากขึ้น ตอบโจทย์เป็น ‘ศูนย์รวมอสังหาริมทรัพย์’ จุดนัดพบของคนซื้อ-ขาย คนทำธุรกิจ ให้ได้มาเจอะเจอกัน และยิ่งถ้าหากเป็นหน่วยย่อย อยากหาหอพักให้ลูกสาว-ลูกชาย ที่จะไปเรียนนอกเขตจังหวัดที่ตัวเองอยู่ ยิ่งหมดกังวล เพราะ Nayoo จะทำให้เห็นที่พักในจังหวัดที่กำลังจะไปได้ง่ายขึ้น หมดความกังวลได้ทีเดียว … นี่แหละ แพลตฟอร์มน่าอยู่ ยิ่งรู้จัก ก็ยิ่งรัก จริงๆ และอนาคตฐานก็มูลก็ยิ่งใหญ่มากขึ้น แน่นอน!!!

ช่องทางการติดต่อ

แพลตฟอร์มNayoo:nayoo.co/khonkaen และ https://www.facebook.com/khonkaennayoo

บทความนี้อยู่ภายใต้โครงการ Startup Thailand Connext สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปก1

OneCharge แอปฯสำหรับ EV ไทย ตอบโจทย์ทั้งคนขับ EV และการต่อยอดธุรกิจ

OneCharge แอปฯสำหรับ EV ไทย ตอบโจทย์ทั้งคนขับ EV และการต่อยอดธุรกิจ

• OneCharge สตาร์ทอัพ หนุนนโยบายรัฐ เดินหน้าพลังงานไฟฟ้า (EV) 
• ทำทุกการชาร์จ เป็นเรื่องง่าย ตอบโจทย์ประชาชน คนทำธุรกิจ องค์กรรัฐ 
• ชูเป็นแอปพลิเคชัน ทุกเรื่อง EV ไทย

“สุดท้ายแล้วคนจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) !!! ที่เห็นทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องเปลี่ยน ทั่วโลกเปลี่ยน นโยบายชาติเราก็เปลี่ยน… ลงมาถึงประชาชนแม้ไม่ได้บังคับ แต่ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นมาแบบตอบโจทย์โลกหมดแล้ว ในเมื่อเราต้องพุ่งไปเส้นทางเดียวกัน จะช้าจะเร็วรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็คือคำตอบ”
OneCharge ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมา เพื่อตอบรับวงการพลังงานไฟฟ้า และเป็นอีกแรงหนุนนโยบายรัฐบาลในการเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้เร็วขึ้น (ก่อนเป้าเดิมที่กำหนดภายในปี 2608) ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ผู้คนเห็นดีเห็นงามกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อันมีเหตุผลหลักก็คือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ดูดเงินในกระเป๋าน้อยกว่าการใช้รถน้ำมัน ช่วยประหยัดได้มาก แต่อุปสรรคข้อใหญ่คือ ‘ความกังวลเรื่องสถานีชาร์จ’ ว่า ถ้าชาร์จรถยนต์ออกจากบ้าน วิ่งไปที่จุดหมายปลายทางหลักร้อยกิโลเมตร เราจะชาร์จได้อีกทีที่จุดไหน บริเวณใกล้เคียงจุดที่ไปจะมีไหม? หรือมีแต่อยู่ห่างออกไปกี่มากน้อย ฯลฯ จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้คนขับรถไฟฟ้า ต้องใช้การวางแผนล่วงหน้ามากขึ้น… แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ‘EV มาแน่’ และเรื่องของ EV ก็ไม่ได้มีแค่ ‘EV Charger’ นี่จึงเป็นที่มาให้ OneCharge เกิดขึ้น พร้อมตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และนักธุรกิจ
ธีรภัทร์ ธิติโสตถิกุล CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท วันชาร์จ โซลูชั่น จำกัด เปิดตัว OneCharge ในฐานะเป็นศูนย์รวม ในรูปแบบแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ติดตั้ง ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ให้บริการ ผู้ขับขี่ EV และธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาไว้ด้วยกันจำนวนมาก จึงตอบโจทย์ผู้ใช้รถ EV ได้เป็นอย่างดี ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เมื่อใช้รถยนต์ EV ในระยะทางไกล ขยายความ การทำงานให้ OneCharge เป็นระบบจัดการสำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ให้บริการทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงขององค์กรและผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า บริการของ OneCharge ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบสถานะการชาร์จ ควบคุมค่าใช้จ่าย และจัดการสถานีชาร์จได้อย่างสะดวกสบาย ผ่านแพลตฟอร์มที่รวมฟังก์ชันทั้งหมดไว้ในที่เดียว นอกจากนี้ OneCharge ยังมีระบบชำระเงินสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่รองรับการใช้งานในทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยเพิ่มความสะดวกและความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการในทุกๆ ด้าน ซึ่งถ้าหากสถานที่ใดต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จ OneCharge มีบริษัทพันธมิตรที่ร่วมมือกับช่างผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจหน้างานและติดตั้ง รวมถึงจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่นจากทั่วโลก เพื่อให้การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด
“เราทำให้การชาร์จ EV เป็นเรื่องง่าย ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีพื้นที่สามารถเป็นเจ้าของสถานีชาร์จได้ง่ายที่สุด” แน่นอนว่า OneCharge เป็นการคิดธุรกิจเพื่ออนาคต กลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือหน่วยงานที่เปลี่ยนรถยนต์น้ำมันมาเป็นไฟฟ้า รวมถึงผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการใช้บริการชาร์จที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็จะอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมายทุกๆ ส่วนด้วยแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย รวมฟังก์ชันการจัดการทั้งหมดไว้ในที่เดียว รองรับการชำระเงินและตรวจสอบสถานะการชาร์จแบบเรียลไทม์ พร้อมบริการติดตั้งโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ในคุณภาพและความสะดวก ข้อดีอีกข้อของแพลตฟอร์มของ OneCharge คือมีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้งานได้กับหลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า นี่จึงไม่น่าแปลกใจ OneCharge ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เช่น NIA ในการพัฒนานวัตกรรมและขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการและขยายตลาดในประเทศ และต่างประเทศ น่าจับตากันเลยทีเดียว สำหรับการเติบโตในวงการ EV ไทย โดยไม่ว่าจะคิดแค่มีรถยนต์ EV หรือคิดจะทำธุรกิจ EV หากได้รู้จัก OneCharge แล้วจะรักกันยาวๆ

ช่องทางการติดต่อ 

OneCharge: https://onecharge.co.th/ และ https://www.facebook.com/onechargeth


บทความนี้อยู่ภายใต้โครงการ Startup Thailand Connext สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปก1

Myket Pro เครื่องมือบริหารตลาด-พื้นที่เช่า ยอดเยี่ยม

Myket Pro เครื่องมือบริหารตลาด-พื้นที่เช่า ยอดเยี่ยม

• อสังหาฯ อย่าปล่อยไร้ประโยชน์ จับทำตลาด-พื้นที่เช่าเพิ่มมูลค่า ช่วยคนมีของเข้าทำเงิน
• ชู Myket Pro ระบบบริหารตลาด-แผงค้าปล่อยเช่า สุดง่าย
• ย้ำจุดเด่น จัดการข้อมูลครบวงจร – โปร่งใส – ตรวจสอบได้ ลดการทุจริตในองค์กร

เมื่อเราก้าวเข้ามาอยู่ในยุคที่ อะไรๆ ก็มีเทคโนโลยีช่วย จงเสาะแสวงหาการต่อยอด ปั้นทรัพย์สินที่มีต่อยอดทำเงิน เพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืน ล่าสุด Startup คนไทย คิด “Myket Pro – ระบบบริหารตลาด-แผงค้าปล่อยเช่า” ช่วยกลุ่มเจ้าของตลาด และเจ้าของพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ ให้บริหารจัดการพื้นที่ง่ายขึ้น ในรูปแบบออนไลน์ ฉะนั้น ใครมีสินทรัพย์เหล่านี้ แล้วอยากต่อยอดเป็นเงินเป็นทอง อย่าช้า!! จะได้ไม่เสียโอกาส

เรียกได้ว่า ‘Myket Pro’ ที่มีผู้ก่อตั้ง คือ ศิรินยา เหลือประเสริฐ Vice President บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด เป็นธุรกิจของสตาร์ทอัพ คนไทยอีกราย ที่ประสบความสำเร็จ มีตลาดทั่วประเทศสนใจนำระบบที่คิดขึ้นนี้ ไปใช้บริหารตลาด-แผงค้า ของตัวเองกันจำนวนมาก เพราะ Myket Pro คือ ระบบบริหารตลาด/แผงค้าปล่อยเช่า ในรูปแบบ online ครอบคลุมการทำงานทั้งหมด จัดเป็นตัวช่วยดีๆ สำหรับผู้บริหาร และผู้ดูแลตลาด ด้วยฟังก์ชั่นการทำงานที่รองรับการบริหารงานตลาดตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถแสดงผลในรูปแบบผังตลาด (Floor plan) การจองแผงค้า จัดการสัญญาเช่า ออกใบแจ้งหนี้ วิเคราะห์ผลประกอบการ รองรับการเชื่อมต่อกับโปรแกรมบัญชี/ERP ขององค์กร 

ศิรินยา ยังตอกย้ำถึงการพัฒนาโปรดักส์ ว่ามาจากการถอดปัญหาการทำงานขององค์กรที่ประกอบธุรกิจตลาดทุกประเภทมาเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดค้าส่ง/ปลีก ตลาดสด ไนท์มาร์เก็ต โดยการทำงานลงพื้นที่ พูดคุยกับ ผู้ใช้งานจริง เพื่อให้ได้ระบบที่ดีที่สุด ความปลอดภัยสูงที่สุด และตอบโจทย์การทำงานของ ลูกค้าที่สุด การันตีด้วยประสบการณ์ดูแลลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่ามากกว่า 10,000 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งต่างก็เชื่อมั่น ระบบและทีมงาน Myket Pro ทั้งสิ้น หลายคนชูความสะดวกในทุกด้าน ปิดจบหลากหลายปัญหาที่เคยมี เช่น ตลาดฟ้าไทย : คุณแนน (เจ้าของตลาด ดูแลต่อจากครอบครัว) เผย “ตลาดเปิดมาแล้ว 20 ปี ใช้กระดาษในการทำงานมาโดยตลอดเลยค่ะ ทำให้ข้อมูลการเก็บเงิน ข้อมูลผู้ค้าค่อนข้างกระจัดกระจาย หลังจากใช้ Myket แล้ว หน้าระบบดูง่าย รวมทุกอย่างในหน้าเดียวเลย ทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลด้วยค่ะ” ตลาด เค สเปซ : คุณเดมี (แอดมินประสานงานขาย) ระบุ “ตลาดเราเพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่นานค่ะ การจัดเก็บหรือรวบรวมข้อมูลของผู้ค้า ค่อนข้างไม่เป็นระบบ และตกหล่น การทำงานหรือการประสานงานภายในองค์กรก็ไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ตอนนี้ตั้งแต่รู้จักกับ Myket การทำงานรวดเร็วขึ้น ทันสมัย ครอบคลุมการทำงานทั้งภายในองค์กร รวมถึงการส่งต่อข้อมูลถึงผู้ค้าอย่างเป็นระบบ” 
ตลาดไนท์บ้านเกาะ : คุณเดียร์ (ผู้จัดการตลาด) กล่าวด้วยว่า “ก่อนหน้านี้ทางตลาดให้ผู้ค้าเข้ามาติดต่อที่สำนักงานตั้งแต่การรับจองผู้ค้า รับเงินค่าเช่าล็อค รวมถึงการรับแจ้งเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการตรวจสอบ ตั้งแต่ใช้งานระบบ Myket Pro และผู้ค้าเริ่มทยอยดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ที่สามารถรับบิลค่าเช่า ชำระเงิน และแจ้งคำร้องต่างๆ ได้ ทำให้ตลาด สามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีเลยครับ”
และยังมีตลาดอีกมากมายหลายพื้นที่ ที่กล่าวถึงความสะดวกสบายเมื่อมาใช้ Myket Pro ซึ่ง ณ จุดนี้ ก็กล่าวได้ว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ร่วมพัฒนา ‘ศิรินยา’ เป็นอย่างดี ทั้งยังตอกย้ำ การทำงานที่ตอบโจทย์ธุรกิจตลาด และทำให้การบริหารจัดการตลาดเป็นไปได้อย่างมืออาชีพ ทำให้ระบบนิเวศของตลาดเติบโตอย่างยั่งยืน

“จริงๆ พอพูดถึงธุรกิจตลาด หลายคนอาจคิดถึงภาพของพ่อค้า-แม่ค้า การจับจ่ายใช้สอยในตลาด แต่ว่า พอลงไปทำความเข้าใจธุรกิจนี้จริงๆ จะเห็นว่า เป็นธุรกิจที่ปราบเซียนอีกหนึ่งธุรกิจเลย ปัญหาแรกจะเป็นเรื่องของ การจัดสรรแผงค้า เวลาที่ต้องคัดเลือกผู้ค้า หรือว่า เอาพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาในตลาดเนี่ย เราจะเริ่มเจอปัญหาแล้วว่า จะจัดสรรไปที่แผงค้าไหนดี โซนไหนดี เวลาที่พ่อค้าแม่ค้ามาแจ้งปัญหาต่างๆ ภายในตลาด ก็ยังเป็นการบันทึกกันผ่านกระดาษอยู่ ซึ่งเราก็จะไม่รู้เลยว่า มันดำเนินเรื่องไปถึงไหนแล้ว แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า มาตรฐานการให้บริการของตลาดเราตอนเนี้ยะ เป็นไปในทิศทางไหน หรือว่าอีกเรื่องนึงก็คือปัญหาในเรื่องของเงิน เวลาใครจ่ายเงินมาแล้วบ้างเนี่ย กว่าจะรู้ต้องรอทีมงานตลาดทำการสรุปมา ซึ่งข้อมูลก็จะไม่ Real Time นะคะ แล้วก็ในเรื่องของการวิเคราะห์ภาพรวมธุรกิจ เรามีการบริหารตลาดไปในรูปแบบไหน ก็จะเห็นภาพได้ค่อนข้างยากค่ะ” ศิรินยา กล่าว

ซึ่งนี่ก็คือ ความฉลาดของระบบ ที่เข้าช่วยอำนวยความสะดวกกับเจ้าของ ใครที่อยากใช้ แต่กังวลว่า ไม่ใช่คนสายไฮเทคโนโลยี กลัวไม่รู้เรื่อง-ใช้ไม่เป็น ข้อนี้ให้วางใจได้ เพราะว่า Myket Pro มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ดูแลลูกค้าตลอดอายุการใช้งาน ไม่เป็นก็สอนได้แบบไม่เบื่อ หรือ จนกว่าจะใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลเลยว่า ระบบต่างๆ ของ Myket Pro ตัวนี้จะใช้งานยาก หรือว่าลูกค้าจะใช้งานไม่เป็น … นี่แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า “การปลดล็อกพลังการจัดการตลาดยุคใหม่” ด้วยระบบบริหารตลาดอัจฉริยะ ช่วยเจ้าของตลาดทั้งมือใหม่-มือเก๋า บริหารจัดการตลาดและแผงค้าเช่าของตัวเองได้อย่างมืออาชีพ เจ้าของตลาดทุกเจ้า ลืมภาพความยุ่งยากในอดีตไปได้เลย

ช่องทางการติดต่อ 

Myket Pro: https://www.myket.in.th/ และ https://www.facebook.com/myketpro


บทความนี้อยู่ภายใต้โครงการ Startup Thailand Connext สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)