Factorium “สสารสำคัญของโรงงาน”

Factorium “สสารสำคัญของโรงงาน”
ยกระดับโรงงานให้ก้าวล้ำสู่ยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล

“อย่าเพิ่งตั้งเป้าหมายว่าเราจะเป็นยักษ์ใหญ่ อย่าไปโฟกัสเรื่องความสำเร็จ แต่เราต้องชัดเจนในทิศทางของการทำธุรกิจ สนุกกับการทำงานในแต่ละวัน สำรวจตัวเองว่าเรามาถูกทางแล้วหรือยัง หลังจากนั้นความสำเร็จจะตามมาเอง”
สิทธิกร นวลรอด หรือ ‘บาส’ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท System Stone จำกัด กล่าวถึงแนวคิดที่ทำให้เขาและหุ้นส่วนร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน Factorium เทคโนโลยีสุดล้ำแห่งวงการอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้วิศวกรภายในโรงงานสามารถบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรผ่าน Mobile Application ได้อย่างสะดวกสบาย โดยคำว่า ‘Factorium’ หมายถึง สสารที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน ที่ได้แรงบันดาลใจจากตารางธาตุ เช่น อลูมิเนียม พลูโตเนียม แมกนีเซียม ฯลฯ

หน้าที่ของ Factorium ช่วยลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงาน ลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error) เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพการผลิตของโรงงาน รวมถึงส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้บริษัทยังพัฒนาระบบ IoT ติดตามการทำงานของเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ ตรวจเช็กความเสื่อมสภาพและป้องกันเครื่องจักรเสียหายระหว่างการผลิต (break down) ที่อาจสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับโรงงาน ทำให้ชื่อเสียงของ System Stone เป็นที่รู้จักในฐานะ Industrial Tech Startup ลำดับแรก ๆ ของไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรกว่า 7,000 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มองปัญหาให้เป็น ‘ปัญญา’ นำพาสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จ
หลังเรียนจบปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2555 สิทธิกรเริ่มต้นทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านระบบการวัดคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ให้กับโรงงานแห่งหนึ่งประมาณ 4 ปี ควบคู่กับการศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามาตรวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ระหว่างการทำงานทำให้เขาพบว่า ปัญหาใหญ่ของวิศวกรในโรงงานเกิดจากการทำงานเอกสารที่มีความซ้ำซ้อน โรงงานยังใช้วิธีกรอกข้อมูลในกระดาษ เสียชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 30-40% ไปกับการคีย์ข้อมูล นอกจากนี้ยังสำรวจปัญหาการทำงานของวิศวกรพบว่า กว่า 80% มีปัญหาเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงและยังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด เราจึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการทำงานของวิศวกรในโรงงาน”

Factorium มีจุดขายอยู่ที่บริการ ‘Knowledge Center’ ทำหน้าที่เป็นคลังความรู้ให้กับลูกค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันเทคโนโลยีของเขาได้ช่วยส่งเสริมการทำงานของวิศวกรแล้วกว่า 25,000 คน แต่กว่าจะก้าวสู่ความสำเร็จในฐานะ Tech Startup บริษัทต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุน รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านการขายและการตลาด

“เรามีวันนี้ได้ต้องขอบคุณทุนก้อนแรกจาก NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาฟังก์ชันใหม่ ๆ แล้วยังช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสตาร์ทอัพของไทยก้าวสู่เวทีสากลอีกด้วย”

หลังได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สิทธิกรตัดสินใจลาออกจากการทำงานเพื่อทุ่มเทให้กับการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างจริงจัง System Stone จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีหุ้นส่วนของบริษัทรวม 4 คน ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาพบอุปสรรคในการทำงานมากมาย รวมไปถึงทางแยกสำคัญที่ต้องเลือกระหว่าง “การทำตามเป้าหมายขององค์กร” และ “การทำตามความต้องการของลูกค้า”

“นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะมีประโยคหนึ่งที่พูดกันเสมอว่า ‘การพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่มีวันเสร็จสิ้น’ เพราะซอฟต์แวร์ต้องทำไปขายไปจนกว่าจะเป็นที่ต้องการของลูกค้า และเขายอมจ่ายเงินซื้อต่อซอฟต์แวร์ของเรา ช่วงแรกก็ท้อเหมือนกันครับ เพราะเรามีคอนเซปต์ที่อยากทำ แต่ลูกค้ามีความต้องการที่ไม่ตรงกับแนวทางในการพัฒนาแอปฯ ของเรา ตอนนั้นเราเหมือนอยู่บนทางแยกระหว่าง ‘ทิศทางในการดำเนินธุรกิจ’ หรือ ‘ทำตามความต้องการของลูกค้า’ นั่นหมายความว่า เราจะต้องเลือกระหว่างการเป็น ‘Software House’ หรือ ‘Tech Startup’ ซึ่งช่วงเวลานั้นเราแทบจะไม่มีเงินเลย มันจึงเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราเลือกทิศทางในการดำเนินธุรกิจ ผมมองว่า วันนั้นเราตัดสินใจถูกแล้ว เพราะวันนี้เรากลายเป็น 1 ใน 3 ผู้นำธุรกิจซอฟต์แวร์เกี่ยวกับระบบซ่อมบำรุงและการพัฒนาคุณภาพของโรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เทคโนโลยีที่กลายเป็น ‘Game Changer’ แห่งวงการอุตสาหกรรม
นอกจากแอปพลิเคชันนี้จะเป็นที่ยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรม สิทธิกรยังบอกด้วยว่า เหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้แอปพลิเคชัน ‘Factorium’ เพื่อสร้างระบบควบคุมคุณภาพภายในโรงงาน รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานและการดำเนินธุรกิจ จากความสำเร็จของ Factorium ทำให้ System Stone พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘JorPor Plus’ ระบบจัดการความปลอดภัยในโรงงาน รวมถึงการจัดอบรมออนไลน์ภายใต้มาตรฐานของแต่ละโรงงาน

“ทั้งสองแอปพลิเคชันของเรานำไปสู่การเป็น Game Changer ของธุรกิจนี้ เพราะการที่ซอฟต์แวร์สามารถทำงานบนมือถือได้ จะนำไปสู่วิธีการทำงานแบบ Industry 4.0 ยกระดับเทคโนโลยีในโรงงานไปอีกขั้น การเป็น IoT พูดง่าย ๆ คือ ลูกค้าของเราเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนในการทำงานและการสื่อสารระหว่างกัน ควบคู่กับการใช้ Machine Link สื่อสารกับเครื่องจักรได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น”

เป้าหมายต่อไปของ System Stone จึงไม่หยุดอยู่ที่ความสำเร็จของทั้งสองแอปพลิเคชัน หากแต่สิทธิกรยังบอกด้วยว่า อนาคตจะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็น Knowledge Center เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กร และทำหน้าที่เป็นคลังความรู้ให้กับพนักงาน

“เราอยู่ในช่วงของการศึกษาและวางแผนที่จะพัฒนา AI แม้แต่ผลิตภัณฑ์แรก ๆ ของเราก็ยังต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการของลูกค้าย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอ การจะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าหลาย ๆ องค์กรพร้อมกันได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย”

ผมจึงอยากให้กำลังใจ Tech Startup รุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพูดคุยกับลูกค้าให้มาก เพราะคนในวงการนี้ไม่ค่อยถนัดในการสื่อสารกับลูกค้า แต่เชื่อเถอะว่า การพูดคุยจะช่วยให้เรามองเห็นทิศทางการทำงานผ่านความต้องการของลูกค้า แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มของเราต่อไป”

รายละเอียดเพิ่มเติม
Factorium | Facebook
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


Caption Facebook
Factorium เทคโนโลยีกลุ่ม Industry 4.0 ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้วิศวกรภายในโรงงานสามารถบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรผ่าน Mobile Application ได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงานที่กินเวลากว่า 30-40% ทำให้วิศวกรกว่า 25,000 คนสามารถทำงานได้อย่างง่ายดาย ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพการผลิตของโรงงาน ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

จนชื่อเสียงของ System Stone เป็นที่รู้จักในฐานะ Industrial Tech Startup ลำดับแรก ๆ ของไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรกว่า 7,000 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
#GMLive #StartupFounder #Factorium
#สิทธิกรนวลรอด #NIA #StartupThailand

Shopping Basket