Startup Thailand
TH / EN
เพราะหน้าที่ของ “หมอ” ในการช่วยชีวิตคนไข้ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การรักษา แต่ “หมอ” ยังสามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบทางการแพทย์ที่ดี เพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งนั่นจะทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น
จากแรงบันดาลใจนี้เอง จุดประกายให้ นายแพทย์รพีพัฒน์ ศรีจันทร์ แพทย์ใช้ทุนชั้นปีที่ 4 ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นกับการพัฒนานวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
นพ.รพีพัฒน์ เริ่มเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ประสบการณ์จากการได้ลงสนามไปทำงานจริงในโรงพยาบาล ทำให้เขาเห็นถึงหลายปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข บวกกับเมื่อเห็นกระแสสตาร์ทอัพในเชียงใหม่เริ่มบูม จึงอยากนำมานวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ และตัดสินใจเข้าร่วมการประกวดสตาร์ทอัพรายการหนึ่ง
“ไอเดียแรกที่ส่งเข้าประกวด คือ ระบบประเมินความเสียงและความเร่งด่วนของคนไข้ที่ต้องมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน เพราะหนึ่งใน Pain Point ของแผนกฉุกเฉินที่ผมเจอ คือ คนไข้บางครั้งไม่รู้ว่าอาการของตัวเองอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินหรือไม่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย บวกกับมองปัญหาผ่านมุมมองของแพทย์เป็นหลัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาโซลูชันและการหาโมเดลธุรกิจมารองรับ ทำให้ไอเดียนี้ไปไม่ถึงฝัน แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นก็ทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดไอเดียใหม่ๆ”
แม้ไอเดียแรกจะล้มเหลว แต่กลับจุดสัญชาตญาณความเป็นสตาร์ทอัพในตัวของนพ.รพีพัฒน์ เขารวมกลุ่มกับทีมงานเพื่อพัฒนาโปรแกรม LECA สำหรับแปลงบทสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ เพื่อลดภาระในการบันทึกเวชระเบียนหรือประวัติการรักษาคนไข้ให้กับแพทย์ เพื่อให้แพทย์มีเวลาไปรักษาคนไข้มากขึ้น
แต่ทำไปทำมา ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีแปลงเสียงที่อาจจะยังไม่แม่นยำ 100% บวกกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ทำให้สุดท้ายนพ.รพีพัฒน์ตัดสินใจพักโปรเจกต์นี้เพื่อไปพัฒนาอีกโซลูชันที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งได้ไปพบ Pain Point ขณะเริ่มนำโปรแกรม LECA ไปทดสอบไอเดียกับโรงพยาบาลต่างๆ
ต่อยอด Pain Point สู่ Health Tech
ปัญหาที่ว่า คือ การที่โรงพยาบาลต่างๆ ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลในแต่ละปีจากการกรอกข้อมูลเวชระเบียนที่ไม่ตรงตามเกณฑ์การเบิกจ่าย
“เวลาที่ผู้ป่วยใช้สิทธิในการรักษาต่างๆ ปกติทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้สารองค่ารักษาไปก่อน แล้วจึงนำข้อมูลการรักษาไปยื่นเบิกจ่าย โดยผู้ที่ทำหน้าที่แปลงประวัติการรักษาต่างๆ ให้เป็นประวัติมาตรฐาน (ICD) เพื่อนำไปเบิกจ่ายตามสิทธิต่างๆ เรียกว่า ผู้ลงรหัส (Medical Coder) แต่ด้วยความที่ปริมาณคนไข้ในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนมากกว่าแพทย์ ทำให้แพทย์อาจไม่มีเวลาบันทึกเวชระเบียนได้ครบถ้วน ส่งผลให้ผู้ลงรหัสซึ่งมีอยู่น้อยนั้นไม่เพียงแค่ต้องรับภาระที่มากขึ้น แต่หากบันทึกข้อมูลผิดพลาดก็อาจจะทำให้โรงพยาบาลสูญเสียรายได้จากการเบิกจ่าย”
จาก Pain Point ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรแกรม Fill’In เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ในการบันทึกข้อมูลให้แม่นยำมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยแปลงและตรวจสอบข้อมูลในการลงรหัสให้ครบถ้วนตามเกณฑ์และรวดเร็วมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และในอนาคตยังสามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลอีกด้วย
“หลังจากเริ่มพัฒนาโปรแกรมเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงนำโปรแกรม Fill’In ไปปลั๊กอินกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจ โดยวางแผนว่าจะขยายผลที่โรงพยาบาลในเชียงใหม่และภาคเหนือก่อนจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพราะฉะนั้น มาถึงวันนี้คงเร็วไปถ้าจะประเมินว่าธุรกิจมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จหรือยัง เพราะภาพความสำเร็จที่วาดไว้ คือ ต้องเห็นประสิทธิภาพของระบบว่าเข้าไปช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้จริง และมีรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุน”
มี passion ใจสู้ ลงมือทำ
ถ้าถามว่า อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ นพ.รพีพัฒน์มุ่งมั่นและไม่ล้มเลิกระหว่างทาง คำตอบคือมี passion ในสิ่งที่ทำและการมีทีมที่ดี
“กำลังใจของเรา มาจากการเสพติดความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เวลาเราเห็นว่าโซลูชันของเรามีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้จริง ทำให้รู้สึกว่ามาถูกทาง บวกกับการมีทีมที่ดี ทำให้มีพลังที่จะเดินไปข้างหน้า”
สิ่งที่อยากบอกสตาร์ทอัพคนอื่นๆ คือ ไอเดียจะดีแค่ไหนก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าไม่เริ่มต้นลงมือทำ ซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุด ที่สำคัญลงมือทำแล้ว ต้องไม่เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป ต้องเผื่อใจให้กับความล้มเหลว พยายามฟังให้เยอะ และทดสอบไอเดียตลอดเวลา เพราะบนเส้นทางของสตาร์ทอัพ ความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ตลอด อยู่ที่ว่าจะก้าวออกมาจากความล้มเหลวนั้นได้เร็วแค่ไหน
“แม้การลงมือทำยากที่สุด แต่ไม่ต้องกลัวว่าลงมือทำแล้วจะไม่มีคนมาช่วยหรือขาดเงินทุน เพราะคนไทยที่มีศักยภาพมีอยู่เยอะ หรืออย่างเรื่องเงินทุน ก็มีหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุน อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่ให้โอกาสเราและให้ความช่วยเหลือในหลายเรื่อง ทั้งเงินทุน คอนเนกชัน และช่วยสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างชื่อเสียงให้กับเรามาตลอด จนทำให้มาถึงจุดนี้ได้” นพ.รพีพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://sati.co.th/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Facebook Caption
รู้จัก Fill’In Health Tech ฝีมือคนไทย ที่ช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ด้วยระบบบันทึกเวชระเบียนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องเสียเงินมหาศาลจากการเบิกจ่ายไม่ตรงตามเกณฑ์