Startup Thailand
TH / EN
นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เป็นหนึ่งในกลไลการให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และชักนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญทั้งกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ซึ่งเป็นไปตามกลุ่มสาขาเศรษฐกิจดังนี้ ได้แก่ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ สาขาเศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน และสาขาเศรษฐกิจบริการและการแบ่งปัน
โครงการที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรมและการเกษตร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านการแสวงหาโจทย์ปัญหาที่แท้จริงร่วมกันของภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ เพื่อดำเนินโครงการนวัตกรรมต้นแบบสำหรับแก้ปัญหาและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม
กลไกสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม” (Managing Innovation Development Credit) หรือ “MIND CREDIT” เป็นการสนับสนุนรูปแบบใหม่ของสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำหรับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถเข้าถึงและใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาหรือขยายผลธุรกิจนวัตกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้พร้อมในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฐานนวัตกรรมของประเทศ
ผู้ที่ประสงค์จะขอรับทุนภายใต้กลไก MIND CREDIT จะต้องส่งข้อเสนอโครงการต่อสนช. เพื่อพิจารณาอนุมัติ และบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ขอรับทุนจะใช้บริการจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ คัดเลือกและขึ้นทะเบียนโดยสนช. ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษากลไก MIND CREDIT ที่สนช. กำหนด โดยสนช. จะให้การสนับสนุนในลักษณะของเงินให้เปล่า (grant) ในรูปแบบทุนสนับสนุนค่าบริการที่ปรึกษาสูงสุด 1,000,000 บาท/โครงการ และคิดเป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ(มูลค่าโครงการ คือ คำนวณจากประมาณการค่าที่ปรึกษา/บริการตามใบเสนอราคาจากบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นมูลค่าก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม)) ระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ผู้ขอรับทุนทำสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรมกับ สนช.
SPARK เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น “Global Accelerator Program” ที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และ เอจีดับเบิลยูกรุ๊ป (AGW Group) กลุ่มนักลงทุนจากประเทศอิสราเอลที่มีประสบการณ์ในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในหลายสาขา เช่น นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงด้านไซเบอร์ นักลงทุนในบริษัทกองทุนร่วมทุน ฯลฯ ซึ่งจะร่วมเป็นวิทยากรและเป็นที่ปรึกษาแบบตัวต่อตัวให้แก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการฝึกอบรม โดยตั้งเป้าพัฒนา Startup ไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับโลก
โครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในระดับนานาชาติ (Global AgTech Acceleration Program) หรือ AGrowth โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้มีความพร้อมและศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สามารถขยายผลธุรกิจในประเทศไทย และเติบโตในตลาดระดับสากลได้ ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศและสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากนานาประเทศได้เข้าถึงระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงจะเป็นตัวเร่งในการสร้างสรรค์สตาร์ทอัพด้านการเกษตรรุ่นใหม่ในประเทศไทยให้มีความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น
โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหาร (SPACE-F) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อยอดการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นให้เจาะจงมากขึ้นในด้านเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech Startup) ตลอดจนเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจสู่ตลาดเอเชีย รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มกลาง (Platform) ที่ช่วยเชื่อมโยงวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารเข้ากับผู้เล่นที่สำคัญในระบบนิเวศ เช่น องค์กรภาครัฐ (Government agency) บริษัทขนาดใหญ่ (Big corporate) นักลงทุน (Investor) และสถาบันการศึกษา (Academic institute) อันจะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น ทั้งในแง่ของปริมาณ (Quantity) ความหลากหลาย (Variety) และคุณภาพ (Quality) ทั้งยังช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย
กองทุนยุวสตาร์พอัพ (Youth Startup Fund) เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนให้พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและผลักดันมหาวิทยาลับไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ตามนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การดำเนินกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) จะมีรายละเอียดการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ 1. โครงการ Startup Thailand League เป็นการพัฒนา บ่มเพาะ การประกวดแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจของนักศึกษาระดับประเทศ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย และ 2. โครงการ Pre-seed Funding ซึ่งเป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่อยอดธุรกิจจริง ในรูปแบบเงินอุดหนุนสมทบบางส่วนแบบให้เปล่า (90/10) แก่นิสิต และนักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญาโท และปริญญาเอก และ/หรือเป็นบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี โดยมีเงินทุนสนับสนุนมูลค่าตั้งแต่ 500,000-1,500,000 บาท เพื่อนำไปซื้อบริการด้านการทดสอบจากห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาต้นแบบซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ (Prove of Concept Idea, POC) และเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการพัฒนาต้นแบบ ซึ่งเป็นการให้ทุนเพื่อดำเนินการพัฒนา POC ผ่าน Incubator ที่ได้รับการรับรอง (Certified Incubator) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โครงการ “International Innovation Matching Program for Innovation-Driven Enterprises (IIM – IDE)” เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ และบริษัท SPHERE8 เพื่อต่อยอดให้องค์กรธุรกิจนวัตกรรมที่สนใจแสวงหาหุ้นส่วนกลยุทธ์กับอิสราเอล โครงการเน้นไปที่การพัฒนาโครงการนวัตกรรมร่วมกันในระยะต้นแบบ (Prototype) โครงการนำร่อง (Pilot Project) ไปจนถึงระยะพร้อมออกสู่ตลาดหรือขยายผลเชิงพาณิชย์ (Commercialization) โดยกิจกรรมในโครงการนี้ดำเนินเป็นภาษาอังกฤษ
depa-Fund เป็นเงินทุนโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศ โดยมีขอบเขตการให้การสนับสนุนหลากหลากหลายด้าน เช่น ผู้ที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจดิจิทัลเพื่อเติบโตเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Digital Startup) การพัฒนาทักษะหลากหลายระดับเพื่อเป็นบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล (Digital Manpower) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ (Digital Research Development and Innovation) การทำกิจกรรมเพื่อขยายโอกาสการตลาด (Digital Event and Marketing) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้า บริการ และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ (Digital Tranformation) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน (Digital Transformation for Community) หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (Digital Infrastructure) เป็นต้น
Research Gap Fund เป็นกิจกรรมการสนับสนุนเพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐ ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและพร้อมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงการวิจัยต่อยอดผลงานที่มีต้นแบบ หรือมีความพร้อมสำหรับการขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือบริการในระดับอุตสาหกรรม
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP) ได้จัดทำโครงการเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพด้วย Startup Voucher เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาความคิดและการต่อยอดนวัตกรรมและอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดผลทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมในภูมิภาคในการสร้างพันธมิตรเพื่อการดำเนินงานและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีทุนสนับสนุนสูงสุด 800,000 บาท
เดอะฟินแล็บ (The FinLab) และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ดำเนินโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค (FinTech) และบริษัทเทคโนโลยีให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้ในยุคดิจิทัลตั้งแต่เริ่มจัดตั้งในปี 2558 เดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) มีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านโมเดลทางธุรกิจโดยการใช้ข้อมูลเชิงลึกในภูมิภาคอาเซียนเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทในโปรแกรมของเราได้วางแผนการขยายตัวทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
TED Fund ร่วมกับ สนช. และออมสิน ประกาศมาตรการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องแก่ Startup ที่อยู่ระหว่างการรับทุนดำเนินธุรกิจ ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และธนาคารออมสิน ในการออกสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการรับทุนของสนช. และ TED Fund เพื่อเป็นมาตรการบรรเทาสภาวะทางการเงินเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 วงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ประเภทเงินกู้ระยะสั้น โดยกำหนดระยะเวลาเงินกู้ตามสัญญาที่ TED Fund หรือ สนช. ให้ทุน ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปี โดยทบทวนวงเงินทุกปี ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ในปีที่ 1-2 และปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นไปตามประกาศธนาคาร
มาตรการเยียวยาสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือและฟื้นฟูสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ผ่านการสนับสนุนทางด้านการเงิน การลงทุน การตลาด เครือข่าย รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถก้าวต่อไป
โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1) การสนับสนุนด้านเงินทุนให้เปล่าผ่านมีกลไกหลักของสำนักงาน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเบื้องต้นได้สนับสนุนทุนนวัตกรรมไปแล้วกว่า 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินอุดหนุนรวม 39.8 ล้านบาท และยังได้เตรียมงบอุดหนุนแบบให้เปล่าไว้สำหรับช่วงหลังวิกฤตโควิด – 19 อีกกว่า 70 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมทั้งมิติเศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธ.ออมสิน ธ.ไทยพาณิชย์ ฯลฯ เพื่ออนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด 19
2) การสร้างตลาดใหม่และส่งเสริมการเติบโต ด้วยการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างของตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ GPT และ แพลตฟอร์ม “YMID Portal” เป็นต้น ซึ่งในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 นี้ก็ได้สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาดังกล่าวกว่า 12 ราย ได้เข้าไปร่วมทำงานจริงกับเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 9 แห่ง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถขยายโอกาสต่อไปในภาครัฐอื่นได้ นอกจากนี้ NIA ยังเตรียมเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้สตาร์ทอัพมาโปรโมทนวัตกรรมดีๆ ผ่านช่องทางเพจ Startup Thailand ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ สำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและต้องการก้าวสู่ระดับประเทศหรือระดับนานาชาติมากขึ้น NIA ก็มีเครือข่ายกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เครือซีพี ไทยยูเนี่ยน สยามคูโบต้า ช.การช่าง ฯลฯ ที่พร้อมจะร่วมลงทุนและผลักดันให้สตาร์ทอัพนั้นได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป
3) การส่งเสริมความรู้และการพัฒนาสตาร์ทอัพ ซึ่งที่ผ่านมีการจัดหลักสูตรอย่างต่อเนื่องทั้งระดับเยาวชน และสตาร์ทอัพทั่วไป และขณะนี้ได้มีการพัฒนาเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้นผ่านสถาบันวิทยาการนวัตกรรม โดยภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีมากกว่า 10 หลักสูตร และโครงการ Startup Thailand League ที่เน้นไปยังกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจจะเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งมีเข้าร่วมกว่า 2000 ราย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ธนาคาร และเอกชน ได้เริ่มสนับสนุนสตาร์ทอัพและวิสาหกกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาศ เช่น กระทรวงการคลัง NSTDA DEPA ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Innospace เป็นต้น