Startup Thailand
TH / EN
Startup Thailand เป็นหน่วยงานระดับประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้ใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ
1.พื้นที่เปิดสำหรับผู้ที่มีทักษะสูงจากทั่วโลก (Open for Talent) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจเริ่มต้นของไทยให้สามารถเติบโตสู่ตลาดโลกได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องดึงดูดและพัฒนาบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความสามารถ และเข้าใจการพัฒนาธุรกิจในระดับโลก
2.พื้นที่เปิดสำหรับการเร่งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (Open for Business Growth) การพัฒนาธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้นเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการควบคู่กับการพัฒนารูปแบบธุรกิจนวัตกรรม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial) ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยและวิสาหกิจเริ่มต้นทั่วไป ตลอดจนดำเนินการเร่งสร้างและวิสาหกิจเริ่มต้น (Acceleration Program) อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจเริ่มต้นให้พร้อมก้าวสู่เวทีการระดมทุนจากนานาชาติ สามารถขยายฐานกิจการไปยังต่างประเทศได้
3.พื้นที่เปิดสำหรับการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Open for Investment) ทุกช่วงระยะเวลาการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมตลอดจนขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ซึ่งแต่ละช่วงมีความต้องการเงินทุนแตกต่างกัน ดังนั้นประเทศไทยต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ นักลงทุนบุคคล บริษัทลงทุนร่วมเสี่ยงทั้งในลักษณะกองทุน และองค์กร ตลอดจนการระดมทุนสาธารณะ อีกทั้งพัฒนานวัตกรรมการเงิน (Financing Innovation) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทยสู่ตลาดโลก
4.พื้นที่เปิดสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (Open for Ecosystem) เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ประเทศไทยต้องดำเนินยุทธศาสตร์ การพัฒนา “เศรษฐกิจนวัตกรรมเชิงพื้นที่” โดยมีการวางแผนและออกแบบพื้นที่และสังคมเมือง เพื่อพัฒนาเมืองหรือย่านให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ของผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นหรือเรียกว่า ย่านนวัตกรรม (Innovation District) โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและผู้ดำเนินกิจกรรมในย่าน เพื่อเชื่อมต่อประชาคม รวมถึงมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน มีกิจกรรมแบ่งปันความรู้แก่กันของวิสาหกิจเริ่มต้น ชุมชน ธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่ เร่งดำเนินการให้มีสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนภาคส่วนต่างๆในระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น