Startup Thailand
TH / EN
ปิยวัฒน์ แสงประเสริฐกฤด
ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจและการตลาด บริษัท เวริลี วิชัน จำกัด
เวริลี วิชัน ก่อตั้งขึ้นในฐานะศูนย์วิจัยพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจในด้านวิศวกรรม เพื่อพัฒนาต่อยอดและส่งเสริมประสิทธิภาพในการแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ Engineering Solution ที่เกี่ยวข้องในด้านของ Computer Vision, Internet of Things (IoT) และ Artificial Intelligence (AI) เข้าสู่กระบวนการด้านธุรกิจ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ปิยวัฒน์ แสงประเสริฐกฤด ดูแลธุรกิจและการตลาด โดยมีนวัตกรรมสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 4.0 รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันดีในแวดวงโลจิสติกส์กับระบบอ่านหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติ – ACNR และระบบอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ – ALPR
“จากวันแรกจนถึงวันนี้ ธุรกิจเราก็ดำเนินกิจการมาได้ประมาณหกปี มีผลประกอบการ แต่ใจผมมองว่า ธุรกิจยังไม่มั่นคง เราเพิ่งก้าวจากศูนย์มาถึงหนึ่ง ตอนนี้เรามีฐานที่แน่นแล้ว เราพร้อมที่จะกระโดด สิ่งที่ทำให้มั่นใจคือ หนึ่ง เราเริ่มมีรายได้ที่มั่นคง ผลประกอบการเราทำได้สามสี่ล้านบาทต่อปี เรามีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน เราเข้าใจวงจรธุรกิจว่าปัญหาธุรกิจเรามีอะไรบ้าง เรียกได้ว่า หกปีที่ผ่านมาทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น”
ปรับเปลี่ยนตัวเอง…ต่อยอดจนเจอสิงที่ใช่
“Verily Vision เริ่มต้นจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเครื่องอ่านค่าทุเรียนว่าสุกหรือดิบระดับไหน แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เราจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อหาผลิตภัณฑ์ใหม่ กระทั่งเรามาเจอจุดอ่อนของธุรกิจคอนโดมิเนียม เขาต้องการเครื่องมาช่วยอ่านเลขทะเบียนรถแบบอัตโนมัติ เราจึงเริ่มต้นกันใหม่ จากนั้นเราก็พบว่าระบบนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะอ่านป้ายทะเบียน แต่ภาคอุตสาหกรรมขนส่งก็จำเป็นต้องใช้ การเก็บข้อมูลพวกรถบรรทุกก็เป็นข้อมูลทะเบียนด้วย เราจึงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวที่สองคือ ตัวอ่านหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราไปช่วยแก้จุดอ่อนให้ธุรกิจลูกค้าได้ทั้งในเรื่องการตรวจความถูกต้องของสินค้า และช่วยตรวจสอบความปลอดภัย”
ความท้าทายคือโจทย์ที่ต้องตอบคำถาม
“ความท้าทายข้อแรกคือ ‘เราจะ Deliver งานให้ลูกค้าคนแรกได้ยังไง’ และ ‘เราจะขยายผลธุรกิจไปได้แค่ไหน’ สอง ‘การจัดทำ Business Model ต้องทำอย่างไรต่อไป’ และสาม ‘เรื่องจิตใจหุ้นส่วน ความตั้งมั่นเป็นสิ่งสำคัญ’ อย่างตอนเริ่มต้นเรามีผู้ร่วมก่อตั้งสี่คน แต่ยอมแพ้ไปสองคน”
เหรียญมีสองด้านเสมอ
“โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เจ็บตัว แต่ก็สร้างโอกาสและความแข็งแกร่งให้จิตใจ ช่วยให้เจ้าของธุรกิจตื่นตัวมากพอที่จะเตรียมพร้อมตลอดเวลา ‘ข้อดีคือ เรามีลูกค้าอยู่แล้ว แต่คู่แข่งเจอปัญหาเหมือนกัน เราจึงได้เปรียบ ส่วนข้อเสียคือ ลูกค้าตัดสินใจนานขึ้น’ แต่ท้ายที่สุดทุกคนจะเริ่มตื่นตัวด้านเทคโนโลยี”
ความฝันและความจริงต้องไปด้วยกัน
“ความฝันของผมคือ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สิ่งที่กระตุ้นให้เราดำเนินธุรกิจต่อไปคือความรู้สึกว่าเรากำลังสร้างอิมแพคให้กับประเทศ รวมถึงความรับผิดชอบที่มีต่อลูกทีม”
บทเรียนที่อยากฝากไว้
“หนึ่ง ต้องเอาให้ชัวร์ว่าธุรกิจทำได้จริง สอง ต้องอยู่บนพื้นฐานของผลประกอบการ ต้องขายได้ ต้องมีคุณค่าในเชิงผลตอบแทนด้วย”
ดูรายละเอียดของ Verily Vision เพิ่มเติมได้ที่
https://verilyvision.com
https://www.facebook.com/verilyvision/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)