Onionshack

‘Onionshack’ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคุณภาพผลิตผลการเกษตร

‘Onionshack’ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคุณภาพผลิตผลการเกษตร

ในการเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาลนั้น เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า คุณภาพของผลิตผล ย่อมมีความไม่สมํ่าเสมอแม้จะปลูกในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งอาจจะมาจากหลายปัจจัย และกระบวนการคัดแยกก็นับเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งสร้างความยุ่งยากและปัญหาให้กับคนกลางมาโดยตลอด ทั้งจากมาตรฐานและมาตรชีวัดที่แตกต่างกัน ซึ่งคงจะดีถ้าหากมีเครื่องมือที่ช่วยให้ขั้นตอนเหล่านี้ถูกลดทอนลง เพื่อไปเสริมสร้างคุณภาพให้กับกระบวนการอื่นๆ ที่ตามมา

และเหล่านี้ก็เป็นแนวคิดในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะของคุณปิยพจน์ เกษมภักดีพงษ์ แห่งสตาร์ทอัพ ‘Onionshack’ ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ดังกล่าว โดยได้ประยุกต์รูปแบบของปัญญาประดิษฐ์ที่มีอยู่ในมือ ให้สอดคล้องและพร้อมรับกับภาคการเกษตร เพื่อคุณภาพของผลิตผลที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

จากจุดเริ่มต้น ปัญญาประดิษฐ์ภายในบ้านโครงการ บริษัทปั๊นโดย ‘Siri Venture’ ในเบื้องต้นนั้น บริษัท Onionshack ไม่ได้จับงานด้านเกษตรกรรมมาแต่แรกเริ่ม หากแต่ในปี 2017 ที่ก่อตั้ง ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับประยุกต์ใช้ในบ้านโครงการของแสนสิริ และเป็นบริษัทที่เติบโตมาภายใต้โครงการ ‘Siri Venture’ ที่มีมูลค่ามหาศาลในปี 2018

‘แรกเริ่มเราทำระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับบ้านโครงการในเครือแสนสิริครับ’ คุณปิยพจน์ เกษมภักดีพงษ์ ผู้ก่อตั้ง Onionshack กล่าวถึงที่มาที่ไป

‘เราเริ่มต้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อตอบสนองต่อระบบพื้นฐานภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า แสงสว่าง ที่ถูกใช้ในโครงการบ้านและคอนโดมิเนียนระดับ High-End ที่ลูกบ้านแต่ละคนจะมีแอปพลิเคชันเพื่อสั่งการที่สามารถดาวน์โหลดได้’

จากจุดเริ่มต้นนั้นเอง ระบบดังกล่าวก็ได้ต่อยอดมาเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบสนองต่อการสั่งงานด้วยเสียง ที่ใช้สำหรับงานภาคบริการ งานอีเวนท์ และการจัดแสดงสินค้าต่างๆ ที่ตามมา

‘เราพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้มาสู่รูปแบบของ Chatbot Service สำหรับงานภาคบริการ งานอีเวนท์ งานจัดแสดงสินค้า และสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีรูปแบบทางธุรกิจโดยให้เช่าเพื่อใช้งานตามแต่โอกาส ก็ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีไม่น้อยเลยทีเดียวครับ’ คุณปิยพจน์กล่าว

COVID-19 และการเบนเข็มมาสูทิศทางใหม่ทางด้านเทคโนโลยี

แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ Onionshack เกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและรายได้หลักที่ได้จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท

‘ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น อย่างที่ทราบกันดีครับ ว่างานอีเวนท์ งานภาคบริการ งานจัดแสดงต่างๆ ถูกยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การเช่าระบบปัญญาประดิษฐ์ Chatbot Service ที่เป็นรายได้หลัก ได้รับผลกระทบอย่างมาก และเป็นจุดที่ทำให้เราต้องมองหาลู่ทางอื่นในการก้าวต่อไปข้างหน้า’

และก็เป็นครั้งนั้นเอง ที่การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์สาย Facial Recognition ซึ่งทางบริษัทได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วน จะได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัท รวมถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่จะตามมา

Facial Recognition กับงานภาค ‘เกษตรกรรม’

ถ้าจะกล่าวถึงระบบปัญญาประดิษฐ์แบบ Facial Recognition แล้วนั้น งานที่เกี่ยวข้องกับระบบดังกล่าวส่วนมากก็มักจะหนีไม่พ้นงานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวน การจดจำลักษณะใบหน้า หรือการเก็บฐานข้อมูลบุคคลขนาดใหญ่ แต่เมื่อมารวมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาคเกษตรกรรม’ นั้น ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ห่างไกลความเข้าใจ จนกระทั่ง Onionshack นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริง

‘ทางเราได้ร่วมมือกับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยสำหรับส่งโรงงานทำน้ำตาล และประยุกต์ระบบ Facial Recognition ในการคัดแยกคุณภาพของลำอ้อยที่จะถูกส่งเข้าไปก่อนปิดหีบ โดยจะมีการบันทึกภาพของอ้อยที่ได้คุณภาพเอาไว้ล่วงหน้า และใช้กล้องกับระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจสอบคุณภาพของอ้อยที่ถูกส่งเข้ามา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดเวลาและกำลังแรงงานคนไปได้อย่างมหาศาล’ คุณปิยพจน์อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก การประยุกต์ใช้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นความคมชัด องศาเหลี่ยมมุม หรือความละเอียดในการคัดแยก ซึ่งทาง Onionshack ก็ค่อยๆ แก้ไข ปรับปรุง และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดเข้าไป

‘ในช่วงแรก มีการตกหล่นและปล่อยผ่านของอ้อยที่ไม่ผ่านมาตรฐานจากข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี เราก็ค่อยๆ ปรับปรุงไม่ว่าจะในส่วนของจำนวนกล้อง ความละเอียด แพลตฟอร์มที่ใช้ และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้รองรับกับการใช้งานที่มากขึ้น ซึ่งก็อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดิมครับ’

เทคโนโลยีใหม่ ความเข้าใจ และการให้เวลา

มาในวันนี้ เทคโนโลยี Facial Recognition สำหรับภาคการเกษตรของ Onionshack อยู่ในระยะที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลได้จริงแล้ว แต่คุณปิยพจน์ก็กล่าวว่า ถ้าจะมีสิ่งใดที่ยังเป็นปัญหาหลงเหลืออยู่ ก็ดูจะเป็นความเข้าใจของทางโรงงานน้ำตาล และกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาล ที่ต้องอาศัยเวลาเปิดใจกับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้

‘เทคโนโลยีเรามีพร้อม ไม่ติดขัดอะไร อยู่ในระยะที่สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี เกษตรกรมันใจกับระบบการสนับสนุนจากภาครัฐก็มีมาอย่างเพียงพอ แต่กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาล อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อเปิดใจกับระบบการคัดแยกแบบใหม่เหล่านี้ ว่าจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดกำลังคน เพิ่มผลิตผลที่มีคุณภาพได้จริงน่ะครับ’

“ซึ่งถ้าการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ Facial Recognition ในภาคการเกษตรสำหรับคัดแยกอ้อยถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โอกาสที่จะนำมาใช้กับผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน” คุณปิยพจน์กล่าวทิ้งท้าย

รายละเอียดเพิ่มเติมOnionshack
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook
เมื่องานคัดแยกผลิตผลที่มีคุณภาพ สามารถลดทอนระยะเวลาและกำลังคน ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ทางเลือกใหม่ที่สดใสสำหรับภาคการเกษตรก็พร้อมเปิดกว้าง ไปกับนวัตกรรมจาก Onionshack

AIYA

ก้าวสู่การบริการอัจฉริยะไปกับ AI Chat Commerce กับแพลตฟอร์ม ‘AIYA’

ก้าวสู่การบริการอัจฉริยะไปกับ AI Chat Commerce กับแพลตฟอร์ม ‘AIYA’

การให้บริการลูกค้าให้ทันท่วงที
คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจออนไลน์เหล่านี้ ที่คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ‘AIYA’ มีความชำนาญ และพร้อมจะตอบสนองต่อทุกความต้องการที่แตกต่างได้อย่างครบถ้วน สอดประสาน และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

จาก ‘M-Commerce’ สู่ ‘Chat-Commerce’
การค้าขายผ่านระบบออนไลน์ในโลกสากลเริ่มต้นเมื่อระบบอินเทอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่สำหรับประเทศไทย ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อหกปีก่อน ที่ระบบการเงินการธนาคารรองรับการใช้จ่ายแบบไร้สาย และได้ก้าวข้ามจาก ‘Mobile (M)-Commerce’ มาสู่ ‘Chat-Commerce’ ซึ่งเป็นการพูดคุยติดต่อกันด้วยตัวอักษร ผ่านโปรแกรมแชทอย่าง Line และ Instagram

“จริงๆ อยากให้มองว่า ปกติแล้ว ในตอนที่ทุกคนก้าวเข้าสู่ยุค ‘M-Commerce’ หรือธุรกิจผ่านโมบายล์ ระบบการเงินออนไลน์ การจ่ายเงิน ยังไม่มีความพร้อม มาพร้อมในช่วงที่เป็น Social-Commerce หรือ Chat Commerce ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ต่างประเทศไม่มีส่วนเสริมที่รองรับในส่วนบริการและการขาย” คุณอัจฉริยะกล่าวเสริม และเป็นจุดที่คุณอัจฉริยะนำมาต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มของ AIYA

พฤติกรรมผู้ใช้ที่เปลี่ยนไป
“พฤติกรรมเหล่านี้ ลูกค้าจะทัก Inbox แล้วผู้ให้บริการหรือร้านค้า ก็ต้องให้คำตอบเร็วที่สุด เพราะทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เป็น ‘Conversational Flow’ ที่เรานำมาประยุกต์เป็น AI Chat Bot ที่สามารถตอบสนองได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง ‘A-CIM’ ที่รวมทุกข้อความจาก Line มาไว้ในที่เดียว พร้อมมี AI Chat Bot คอยโต้ตอบกับคนที่ถามเข้ามา ลูกค้าสามารถออกแบบคำถามคำตอบได้เอง ซึ่งต่างจากแพลตฟอร์มอื่น” คุณอัจฉริยะอธิบาย

โลกไร้เสียงที่มีเพียง ‘ตัวอักษร’ ทำให้การค้าขายแบบออนไลน์ผ่านการส่งข้อความเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ว่าจะมีเพียงพอที่จะต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มเสริมจนกลายเป็นธุรกิจขนาดย่อมได้หรือไม่

การเปลี่ยนแปลงตามกระแสตลาด
“ถ้าถามว่าทำไมมั่นใจว่ารูปแบบการแชทนั้นจะมา มีงานวิจัยที่ทำโดย IBM ค้นพบว่าการสื่อสารจะเปลี่ยนจากเสียงเป็นข้อความมากขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มกำลังจะมา โดยเฉพาะคนไทยที่ใช้โปรแกรม Line ติดต่อสื่อสารกว่า 90%” คุณอัจฉริยะอธิบายเพิ่มเติม

ด้วยประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มองค์กรมากว่ายี่สิบปี คุณอัจฉริยะได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สเกลลดลงสำหรับผู้ใช้งานระดับย่อย เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

“เราเน้นลูกค้ากลุ่มองค์กรเป็นหลัก เนื่องจากเรามีประสบการณ์ในวงการไอทีกว่ายี่สิบปี และเข้าใจรูปแบบการทำงานในแบบองค์กร มีผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว นำมาปรับปรุงให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับกลุ่มตลาดใหญ่หรือ SME” กล่าวโดยสรุป ผลิตภัณฑ์ของ AIYA จะถูกใช้ในกลุ่มองค์กรก่อน แล้วนำมาปรับให้เข้ากับลูกค้าที่มีสเกลเล็กลง ทั้งแบบที่ให้เราติดตั้งให้ หรือเวิร์คช็อปติดตั้งเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมแต่อย่างใด

การปรับตัวในช่วง COVID-19
ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 แพลตฟอร์ม AIYA ต้องเผชิญกับการปรับตัวขนานใหญ่ เนื่องจากรายได้หลักมาจากกลุ่ม Enterprise หรือองค์กรขนาดใหญ่

“ช่วง COVID-19 มีกลุ่มธุรกิจที่ประสบภาวะหลากหลายแบบ ทั้งขึ้น ลง และพยายามประคองตัว แต่ในส่วนของ AIYA ในช่วงแรก ผลิตภัณฑ์ที่มีนั้นเป็นแบบ Enterprise แต่ไม่มีสำหรับ SME เลย ทำให้ช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถขายของให้ลูกค้ากลุ่มองค์กรซึ่งเป็นรายได้หลักได้เลย” คุณอัจฉริยะกล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าว

“เราผ่านพ้นช่วงนั้นมาได้ด้วยการลีนบริษัท ผู้บริหารเข้าคอร์สดำเนินการโดยด่วน โดยที่บริษัทไม่ได้ใหญ่มากนัก ผลิตภัณฑ์ไหนที่อยู่ในช่วงพัฒนาแต่ยังไม่เสร็จ ก็หยุดเอาไว้ก่อน ลดรายจ่าย และปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงาน”

ปัจจุบัน AIYA เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโต มีผลิตภัณฑ์ในเครือทั้งหมด 5 ชนิด และกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ MAI อย่างแข็งแกร่งในตลาดทุน

“เน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะออกแบบ หรือพัฒนาสิ่งใด ฟังเสียงของลูกค้าว่าต้องการอะไร และต้องลงมือทำ รวมถึงเรียนรู้สิ่งที่ได้ทำ ปรับเปลี่ยนตามสภาพให้เร็ว” คุณอัจฉริยะกล่าวทิ้งท้าย

รายละเอียดเพิ่มเติม: AIYA
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook:
เมื่อธุรกิจบริการในโลกการค้าขายออนไลน์ ต้องการความรวดเร็ว ฉับไว และตอบสนองต่อทุกความต้องการได้อย่างหลากหลาย แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง AIYA จึงได้อาสาเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อขับเคลื่อนหัวใจเศรษฐกิจใหม่นี้

Petaneer

อุปกรณ์เพื่อสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก กับสตาร์ทอัพ PETANEER

อุปกรณ์เพื่อสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก กับสตาร์ทอัพ PETANEER

อุปกรณ์เพื่อสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก กับสตาร์ทอัพ PETANEER

มนุษย์เลี้ยงสัตว์ไว้ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการปศุสัตว์ ด้านการเกษตรกรรม หรือเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนร่วมทางในชีวิต โดยเฉพาะเหตุผลข้อหลัง ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่เริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับสังคมยุคปัจจุบัน

การสำรวจทางการตลาดจากสถาบันวิจัยและสถาบันทางการเงินพบว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า แต่สัตว์เลี้ยงก็เช่นเดียวกับคน ที่ย่อมมีความเจ็บป่วยและอายุยืนขึ้น อุปกรณ์เพื่อรองรับสถานการณ์เหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณภวรัญชน์ สุวรรณสันติสุข หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘PETANEER’ สตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพของสัตว์เลี้ยง เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงของคุณให้อยู่ด้วยกันไปอีกนานเท่านาน

จากหมอผู้ใส่ใจสัตว์เลี้ยงสู่การพัฒนาอุปกรณ์สัตว์ป่วยและสูงวัย
PETANEER เริ่มต้นมาจากประสบการณ์ของสัตวแพทย์ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ซึ่งมองเห็นปัญหาในการดูแลสัตว์สูงวัยและสัตว์ป่วยในโรงพยาบาลสัตว์ ด้วยพื้นฐานความรู้ด้าน Bio-Engineering จึงได้ต่อยอดมาเป็นไอเดียการผลิตอุปกรณ์ดูแลสุขภาพสัตว์

“เราเริ่มก่อตั้งในปี 2015 แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์ จนมาถึงปี 2018-2019 เราแยกตัวออกมาเป็น PETANEER เพราะเห็นโอกาสทางด้านการตลาดที่มีความยืดหยุ่นในการขยายตัวมากกว่า” คุณภวรัญชน์ สุวรรณสันติสุข กล่าวถึงที่มาของ PETANEER

การเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงและการปรับตัวในช่วง COVID-19
แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2019 จะส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ แต่ตลาดสัตว์เลี้ยงกลับยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง PETANEER เองสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้มาได้โดยการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การขายออนไลน์และส่งสินค้าด้วยตนเอง

“จริงๆ แล้วเราโตตามความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นในสภาวะปกติหรือในช่วง COVID-19 โดยตลาดสัตว์เลี้ยงมีอัตราการเติบโตที่ 5-10% ยิ่งสังคมมีแนวโน้มเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น คนเลี้ยงสัตว์ก็เพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้บริการสถานพยาบาลและเครื่องมือสำหรับสัตว์ที่เติบโตและสูงวัยเพิ่มมากขึ้น” คุณภวรัญชน์เสริม

เป้าหมายและนวัตกรรมใหม่ในอนาคต
ปัจจุบัน PETANEER มองถึงการ ‘Exit’ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ต่อไป เช่น เสื้อที่สามารถจับสัญญาณอารมณ์สัตว์เลี้ยง หรือปลอกคอ GPS เพื่อป้องกันสัตว์หาย รวมถึงการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น ยุโรปและอเมริกา โดยการจดสิทธิบัตรเพื่อป้องกันนวัตกรรมของตน

“สิ่งที่เราภูมิใจที่สุดคือสุขภาพของสัตว์ที่ใช้อุปกรณ์ของเราดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 95% ซึ่งแสดงว่านวัตกรรมของเราตอบโจทย์จริง และลูกค้าต่างประเทศที่เคยใช้แบรนด์ยุโรปหรืออเมริกาหันมาใช้สินค้าของเรามากขึ้น” คุณภวรัญชน์กล่าวสรุป

รายละเอียดเพิ่มเติม:
PETANEER Website
PETANEER Facebook

Facebook Caption:
เพราะสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่คุณรักเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม PETANEER มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของคุณอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

Kollective

Kollective: แพลตฟอร์ม Influencer Marketing ครบจบทุกขั้นตอน

Kollective: แพลตฟอร์ม Influencer Marketing ครบจบทุกขั้นตอน

Kollective
แพลตฟอร์ม Influencer Marketing ครบจบทุกขั้นตอน

วราพล โล่วรรธนะมาศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คอลเลคทีฟ วัน จำกัด

Kollective คือผู้เชี่ยวชาญด้าน Influencer Marketing ที่พร้อมช่วยแบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยอินฟลูเอนเซอร์และนักรีวิวคุณภาพผ่านการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ บริการวางแผนและจัดการ Influencer Marketing แบบครบวงจรเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น ไม่ได้สำเร็จในทันทีที่ก่อตั้ง แต่เพราะมี วราพล โล่วรรธนะมาศ ซีอีโอและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง รวมถึงทีมงานที่ค่อยๆ ร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาและนำมาสู่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ร่วมกันคิด ร่วมกันดูแลตั้งแต่การวางแผน วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย พร้อมด้วยทีมงานมืออาชีพช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์แปลกใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมดูแลการทำการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียให้เหมาะกับแบรนด์ ประสานกับการใช้เครื่องมือทางการตลาดทุกรูปแบบเพื่อสร้างสรรค์แคมเปญที่จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการในราคาที่คุ้มค่าที่สุด

“เราเชื่อว่าถ้าเป็นบริษัทการตลาด ถ้าเราอยากจะโต เราก็ต้องทำให้ลูกค้าโตก่อน สิ่งที่เราต้องไปวัดคือ Key Performance Indicator ของลูกค้าที่เป็นยอด Average Engagement ว่าเป็นยังไง ดังนั้น พอเราวัดผลลัพธ์ก็มองเห็นว่าผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าการเป็นแค่ทำหน้าที่ Match Influencer ตอนนี้เราตั้ง KPI เลยว่าแต่ละแบรนด์ต้องเกิด Engagement เพิ่มเท่าไรในปีนี้ แต่ละปีเราจะช่วยลูกค้ายังไงให้เติบโตถึงเป้าหมาย เพราะถ้าลูกค้าถึงเป้าหมายเราก็ถึงเป้าหมายของบริษัทเราด้วย”

เริ่มต้นที่โอกาส เติบโตด้วยการแก้ปัญหา

โอกาสอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทุกคนได้รับ แต่สำหรับบางคน โอกาสไม่ได้มาถึง แต่คือการมองเห็น คือการสร้างทั้งหมดขึ้นมาด้วยตนเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือการรักษาโอกาสไม่ให้หลุดลอยหายไป แต่ต่อยอดให้โอกาสขยายและเติบโตขึ้นไปเป็นความสำเร็จ

“เมื่อประมาณสองถึงสามปีที่แล้ว ตลาด Influencer ไทยเติบโตค่อนข้างเร็ว ผมเห็นเทรนด์การเติบโตตรงก็เลยมาคิดว่าตลาดที่กำลังโตนั้น เรามี Potential ในตลาดไหนบ้าง พบว่า Influencer ที่เป็น Young Generation เป็นตลาดที่เราเข้าใจตลาดมากกว่าที่อื่น ก็เลยฟอร์มทีมตั้งบริษัทขึ้นมา แต่ปัจจัยที่ทำให้บริษัทเติบโตคือ หลังจากก่อตั้งได้ประมาณหนึ่งปีผลลัพธ์ต่างๆ เริ่มดรอปลง ลูกค้าเราไม่ค่อยเชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์ทำแล้วเวิร์ค ตั้งคำถามว่า ทำไปแล้วไม่เกิดยอดขาย เราก็เลยมาคุยกันในผู้ร่วมก่อตั้งว่าทำยังไงดีในตลาดนี้ที่เคยเห็นโอกาสมาก่อน ก็ไปดูว่า Painpoint ของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์เป็นอย่างไร การที่แบรนด์แต่ละแบรนด์ทำแล้วมันไม่เวิร์คเป็นเพราะอะไร ช่วงนั้นไม่ได้หาลูกค้าเลย เน้นการพูดคุยกับลูกค้า เริ่มหาฟอกรุ๊ปใหม่ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เติบโตมาถึงทุกวันนี้ได้จากการแก้ปัญหาลูกค้า”

อธิบายให้เห็นภาพชัดก็คือ ช่วงแรกบริษัทเราเป็นแค่ Influencer Matching Platform Value คือทำหน้าที่จับแบรนด์กับ Influencer ให้เจอกัน ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราเรียกตัวเองว่าเป็น Influencer Marketing Optimizer ก็คือ Optimize ผลลัพธ์ทางการตลาดให้คุ้มค่ามากที่สุด เราต้องรู้ว่าผลลัพธ์หลังจากที่แบรนด์ใช้อินฟลูเอนเซอร์จะเป็นยังไง เกิดยอดขายมั้ย ทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ไประยะหนึ่งก็จะมีการวิเคราะห์ด้วยว่าผลลัพธ์ดีไหม ถ้าดีแล้วควรจะทำแคมเปญยังไงต่อไป ถ้าผลลัพธ์ไม่ดี ก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น”

แรงที่ขับเคลื่อนคือแรงใจจากภายในตัวเราเอง

Passion ของคนหนึ่งคนอาจจะเพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แต่ Passion นั้นจะยังคงโลดแล่นและดำรงอยู่ก็เพราะมีใครบางคนเชื่อมั่นและมองเห็นคุณค่า กล้าฝากชีวิตไว้กับเรา เมื่อนั้นเราจะไม่ปล่อยให้ Passion หมดไปอย่างง่ายดาย

“ความท้าทายช่วงแรกเพื่อทำให้ธุรกิจเป็นธุรกิจได้ ผมคิดว่าแรงผลักดันคงจะต้องมาจากตัวเราเองที่รู้สึกอยากจะพิสูจน์ว่าเราสามารถปั้นธุรกิจให้เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เติบโตต่อไปได้จริง ส่วนต่อมาพอบริษัทเริ่มคงที่ เติบโตขึ้นแล้ว ผมคิดว่า Passion ต้องมาจากทั้งทีมด้วย เพราะผมรู้สึกว่าการที่คนในองค์กรกล้าที่จะตัดสินใจมาร่วมงานกับสตาร์ทอัพระดับเล็กอย่างเรา การที่เขาเข้ามาอยู่ในบริษัทเรา แปลว่าเขากล้าให้ความเชื่อมั่นกับเรา เราก็ต้องทำตัวให้สมกับที่เขาเชื่อมั่น เราต้องเก่งขึ้น ต้องบริหารงานดีขึ้น ต้องทำงานเป็นระบบมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อตอบรับต่อความต้องการ ความไว้ใจที่พนักงานมีให้กับองค์กรครับ”

เป้าหมายจะใกล้หรือไกล…แต่ต้องก้าวไป

จากจุดเริ่มต้น Kollective นับว่าเดินมาไกลพอสมควร แต่เมื่อมองไปข้างหน้า เส้นทางสายนี้ก็ยังทอดยาวไกลไม่น้อยไปกว่ากัน ก้าวแต่ละก้าวจึงสำคัญ แม้อาจจะยังมองไม่เห็นเป้าหมายในวันนี้ แต่เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่งเราจะไปถึง เราจึงต้องเดินต่อไป

“โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นสตาร์ทอัพมักมองว่า การมีลูกค้านับเป็นการเติบโตก้าวแรก ส่วนก้าวที่สองคือการที่บริษัทมี Business Plan ทำให้สามารถระดมทุนเข้ามาให้ธุรกิจได้ และก้าวที่สามคือการมีภาพเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่ง Business Model ของเราอย่างเรื่องลูกค้า ก็ถือว่าตอบโจทย์ ในเรื่อง Business Plan เราก็มีการระดม มีหน่วยงานมาซัพพอร์ตทำให้ธุรกิจสามารถเป็นจริงได้ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่มาช่วยกันวางแผน เพื่อที่จะได้มองเห็นภาพแล้วว่าเราอยากจะไปตรงไหน ก็เหลือแค่ว่าเป้าหมายแต่ละปีที่เราค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้น อยู่ที่ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของเราหรือเปล่า ในอนาคตเราก็อยากเป็น Eco-marketing ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าพูดถึง Milestone ขนาดนั้น ถ้าเต็มสิบเราก็คงได้แค่หนึ่ง สอง เท่านั้นเองครับ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่เราตั้งบริษัทตอนที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เราเคยอยู่จุดต่ำสุดที่ลูกค้าเริ่มบ่น ลูกค้าเริ่มลดลง จากการที่เราเปลี่ยน Business Model และดำเนินธุรกิจมาจนถึงตรงนี้ได้ ต้องถือว่าเรามาได้ไกลเหมือนกัน แต่หนทางข้างหน้าก็ยังอีกยาวไกลเช่นกัน”

เหนื่อยกับปัจจุบันไม่เป็นไรถ้ายังมองเห็นอนาคต

One Man Show ไม่ยิ่งใหญ่และไม่ได้ทำให้ธุรกิจไปไกลเท่ากับการมี Teamwork ที่คอยขับเคลื่อนเตือนใจและเติมพลัง เมื่อใดที่เกิดปัญหา ต่อให้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในวันนี้ แต่การ “สื่อสาร” ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็ย่อมทำให้มีหนทางไปสู่ทางออก

“คนทำสตาร์ทอัพช่วงแรกๆ ที่ทำธุรกิจก็จะรู้สึกว่าทำไมยากจัง ทำไมปัญหาเยอะจัง สุดท้ายคนที่เติมไฟก็คือกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งครับ มีปัญหาอะไรก็ต้องคุยกันว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหนแล้ว เรายังไปต่อกันไหม พยายามมาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาบ่อยๆ ว่าทิศทางในอนาคตเป็นยังไง เมื่อตอนใดก็ตามที่เหนื่อย ไม่อยากทำต่อ คีย์เวิร์ดสำคัญคือเหนื่อยกับปัจจุบัน และไม่เห็นอนาคต ต้องมาคุยกันแล้วว่าเหนื่อยกับปัจจุบัน เหนื่อยถูกจุดมั้ย ต้องพยายามหาวิธีปรับการทำงานให้ดีขึ้น ปรับโครงสร้างองค์กรให้ดีขึ้น เรื่องของการมองไม่เห็นอนาคต ก็ต้องมาคุยกันให้เคลียร์ว่าภาพของอนาคตที่แต่ละคนเห็นเป็นยังไง ถ้าภาพไม่ชัดเจน เราก็ต้องคุยกันและนำไปสู่ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยกับปัจจุบันและการมองไม่เห็นอนาคตจะหายไปครับ”

รายละเอียดเพิ่มเติม
Kollective Website
Facebook Kollective

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

วราพล โล่วรรธนะมาศ
ซีอีโอและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คอลเลคทีฟ วัน จำกัด

พลิกเกมปรับกลยุทธ์อย่างไรจึงทำให้สตาร์ทอัพอย่าง Kollective ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Influencer Marketing กลับมาเติบโตและประสบความสำเร็จอีกครั้งหลังจากขวบปีแรกที่ดูเหมือนว่าบริษัทจะไปผิดทาง แต่ปัจจุบันนี้ Kollective คือบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าให้ดูแลการทำการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยประสานกับการใช้เครื่องมือทางการตลาดทุกรูปแบบ สร้างสรรค์แคมเปญที่สามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างน่าสนใจ

Shipnity

Shipnity

Shipnity

Shipnity
ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ
ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปนิตี จำกัด

ชิปนิตี หรือแพลตฟอร์มระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ คือตัวช่วยผู้ประกอบการยุคดิจิทัลให้สามารถบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมี ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันระบบจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจัดการสต็อกสินค้า การจัดการออเดอร์ และระบบรายงานสถิติและการเงินได้อย่างตรงจุดและตรงใจ เกิดเป็นประโยชน์มหาศาลต่อผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ให้มีระบบวางแผนการขายอย่างคล่องตัว นับระยะเวลาวันแรกจากวันนี้รวมแล้วหกปีที่ชิปนิตีเติบโตเคียงข้างร้านค้าออนไลน์ในประเทศ และอีกไม่นานอาจได้เห็นชิปนิตีขยายสู่ตลาดการค้าเพื่อนบ้าน

“เรามี Co-Founder สองคน จุดเริ่มต้นมาจาก Pain Point ในการขายของออนไลน์ที่พอเริ่มขายดีก็เริ่มจัดการออเดอร์ได้ยาก ย้อนไปเมื่อห้าหกปีที่แล้ว ยังไม่มีโปรแกรมไหนที่ตอบโจทย์ พาร์ทเนอร์ของเราจึงเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้เอง พอใช้แล้วรู้สึกว่าดี ช่วยตอบโจทย์การทำงานหน้าร้าน คิดว่าน่าจะมีคนที่ต้องการเครื่องมือแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ก็คิดว่าลองให้คนอื่นใช้ด้วยดีไหม เลยจดโดเมนเว็บไซต์ เปิดเพจเฟซบุ๊ก ยิงโฆษณาดู หลังจากนั้นก็มีลูกค้าสมัครใช้งานเลย แล้วก็ได้ฟีดแบ็คกลับมาว่าระบบดีมาก เขามองหาโปรแกรมแบบนี้อยู่ พอระบบของเราสามารถตอบโจทย์ร้านออนไลน์ได้จริงๆ จึงลงมือพัฒนาระบบอย่างจริงจังมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้”

ความยั่งยืนของธุรกิจลูกค้าคือ Passion ของเรา การลงมือทำโดยมุ่งมั่นต่อความสำเร็จของตนเองเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่การคิดถึงความสำเร็จของผู้อื่นด้วยนั่นน่านับถือ โลกของเราต้องการความช่วยเหลืออีกมาก โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจที่ใครๆ ก็มองว่าเป็นโลกแห่งการแข่งขัน แต่ทุกวันนี้ การทำธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจะยิ่งทำให้ธุรกิจของเราเติบโตได้เป็นไปได้

“Passion ของเราในการก่อตั้งชิปนิตี คือ เราต้องการเป็นผู้ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ อยากให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียหรือลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งลดความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์เราเองก็ตาม ใช้จุดอ่อนของเรามาเป็นตัวตั้งต้น เพราะเราเคยมีประสบการณ์เดียวกับลูกค้าตอนที่เริ่มขายของออนไลน์ เมื่อลูกค้าสั่งของเข้ามายี่สิบออเดอร์เราเริ่มงง มีการส่งสลับของ ส่งผิด ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจ กว่าจะได้ลูกค้าก็ยากแล้วแต่การรักษาลูกค้าเก่ายิ่งยากกว่า”

ใจต้องมา ความสามารถต้องมี ชิปนิตีเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีความแข็งแกร่งของระบบหลังบ้านที่ลูกค้ายกนิ้วให้ เบื้องหลังคือคนรุ่นใหม่อายุน้อย พวกเขาใช้พลังจากไหน และมีแนวคิดอย่างไรที่ทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคในทุกช่วงเวลาของการสร้างบริษัทมาได้โดยที่ไม่ล้มเลิกไปเสียก่อน

“ความสำคัญของการทำธุรกิจคือ การที่เราเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า ฟังลูกค้าเยอะๆ แล้วก็ไม่หยุดพัฒนา คือปัจจัยหลักที่สำคัญมากๆ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ Model Vision กับ Passion ของตัวผู้ก่อตั้งเอง และทีมงานที่ไม่หยุดก้าวไปด้วยกัน เพราะการทำธุรกิจนั้นย่อมมีอุปสรรคตลอดเวลา มีความเหนื่อย ความท้อ แต่สิ่งที่เราทำคือ Passion ความตั้งใจกับความต้องการที่เราจะให้บริการลูกค้า เราต้องการให้ธุรกิจสำเร็จขึ้นมาให้ได้ และสิ่งที่สำคัญมากคือเราจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ในวันที่เราเหนื่อย เราไปทำอย่างอื่นก็ได้ เราเลิกทำดีไหม คู่แข่งเยอะเหลือเกิน เราเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ตอนแรกที่ยังเรียนไม่จบ ต้องศึกษาเยอะมากทำยังไงให้เราสามารถพัฒนาให้เทียบเท่าหรือนำคนอื่นไปได้ ต้องใช้พลังใจเยอะมากๆ”

“หรืออย่างโควิด อยู่ดีๆ ก็ระบาดหนัก โลกนี้ไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้มาก่อน ค่อนข้างจัดการได้ยาก ตามมองทางเศรษฐศาสตร์ เราสามารถมองได้สองแง่มุม คือ ปกติในตอนนี้คนเราชีวิตจะมีทั้งออฟไลน์กับออนไลน์ แต่การที่พลิกผันเทไปอยู่โลกออนไลน์มากกว่าทันทีทำให้เกิด Demand Shock อยู่ดีๆ ทางฝั่งออนไลน์ก็มียอดการขายที่เพิ่มแบบระเบิดขึ้นมาเลย เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย ทำให้กำลังการผลิตไม่พอ การตั้งโรงงานใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในสองวัน อย่างเราเองลูกค้าเข้ามาเยอะมากแต่เกิดขึ้นทันทีทันใด เราไม่ได้ขยายทีมเราได้ในระดับที่จะไปรองรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทีมงานเราก็ต้อง Work From Home จัดการยาก และทำให้ทีมเหนื่อยมากๆ ใจที่พร้อมจะสู้ก็สำคัญแล้วก็เป็นเรื่องความสามารถของทีมที่ทำได้ เหนื่อยกันสุดๆ แต่ก็ผ่านกันมาได้”

พัฒนาตัวเองตลอดเวลา แม้จะเติบโตมาในระดับหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ถ้า ณ วันนี้แพลตฟอร์มชิปนิตีตอบโจทย์ลูกค้าได้มากเท่าไหร่ พรุ่งนี้จะยิ่งตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานโดย “ตอบสนอง” ความต้องการ แต่เป็นการ “เสนอ” สิ่งที่ลูกค้าอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการ

“แผนตอนนี้จะแบ่งได้เป็นสองเรื่อง หนึ่งการจัดการสินค้า ซึ่งเรามีการพัฒนาต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้เราก็มองหาทั้ง New business หรือ New S Curve ที่เป็นการต่อยอดไปอีกอย่างการพัฒนาฟีเจอร์บางอย่างที่นำหน้าคู่แข่งซึ่งเราจะค่อนข้างไวมาก อย่างตอนที่ TikTokShop เข้ามาในไทย เราเชื่อมต่อเป็นเจ้าแรกในไทยเลย วันนี้เราเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทระดับโลกที่เป็นเบต้า ก็จะทำ Facebook, Instagram โดยมีพาร์ทเนอร์ทั้งในส่วน Tech Partner และ Marketing Partner เรื่องที่สอง คือการพัฒนาทั้งเรื่องของทีมงานระบบภายใน ซึ่งเรามีการสเกลมาในระดับหนึ่งแต่ต้องสเกลต่อ การวางระบบภายใน การเทรนนิ่งพนักงาน และระบบการดูแลลูกค้าที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะยังไงก็มองว่าเราต้องพัฒนาตัวเองในทุกด้านตลอดเวลา”

ใช้ความเป็นเด็กให้เป็นประโยชน์
ความรู้อาจเรียนทันกันหมด เป็นความจริง และยิ่งในโลกที่หมุนแรงและเร็วอย่างปัจจุบันนี้ ก็จริงมากขึ้นไปอีกหากจะกล่าวว่า อย่าประเมินความสามารถของใครด้วยอายุอีกต่อไป

“สำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ เราจะฝากไว้ทุกครั้งที่มีโอกาสให้สัมภาษณ์ว่าขอให้ลองทำไปเลยตอนเด็กๆ นี่แหละดี คนที่โตแล้วมาทำนู่นทำนี่ ได้เสียจะมีส่วนได้ส่วนเสียสูง ความเป็นเด็กแม้จะไม่มีประสบการณ์อะไร แต่เราสู้สุดใจเลย แรงก็เยอะด้วย และด้วยความเป็นเด็ก ทำให้เราสามารถขอคำปรึกษาจากพี่ๆ ได้ พี่ก็จะอารมณ์แบบว่าช่วยน้องหน่อย ก็อยากให้ทุกคนลองกล้าๆ ดู แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้มาจากการสังเกตทั้งตัวเราและคนอื่นๆ คือ เราต้องรู้ว่าเราไม่รู้อะไร สำคัญมาก บางทีเรามั่นใจมาก รู้หมดแล้ว จุดนั้นอันตรายมาก แต่ถ้ามีวันหนึ่งเรารู้สึกว่า เราไม่รู้อะไรเลย มีอีกตั้งอย่างเลยก็อาจจะทำให้เริ่มท้อเหมือนกัน ก็ให้บอกตัวเองว่า อย่างน้อยเราก็รู้เพิ่มขึ้นวันละเรื่องก็ได้ ในทุกๆ วัน และอย่าลืมตอบตัวเองให้ได้ว่าจริงๆแล้ว เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร Passion ของเราคืออะไร เราช่วยใครได้บ้าง”

รายละเอียดเพิ่มเติม
Shipnity | Facebook
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Start Up Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Factorium

Factorium “สสารสำคัญของโรงงาน”

Factorium “สสารสำคัญของโรงงาน”

Factorium “สสารสำคัญของโรงงาน”
ยกระดับโรงงานให้ก้าวล้ำสู่ยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล

“อย่าเพิ่งตั้งเป้าหมายว่าเราจะเป็นยักษ์ใหญ่ อย่าไปโฟกัสเรื่องความสำเร็จ แต่เราต้องชัดเจนในทิศทางของการทำธุรกิจ สนุกกับการทำงานในแต่ละวัน สำรวจตัวเองว่าเรามาถูกทางแล้วหรือยัง หลังจากนั้นความสำเร็จจะตามมาเอง”
สิทธิกร นวลรอด หรือ ‘บาส’ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท System Stone จำกัด กล่าวถึงแนวคิดที่ทำให้เขาและหุ้นส่วนร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน Factorium เทคโนโลยีสุดล้ำแห่งวงการอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้วิศวกรภายในโรงงานสามารถบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรผ่าน Mobile Application ได้อย่างสะดวกสบาย โดยคำว่า ‘Factorium’ หมายถึง สสารที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน ที่ได้แรงบันดาลใจจากตารางธาตุ เช่น อลูมิเนียม พลูโตเนียม แมกนีเซียม ฯลฯ

หน้าที่ของ Factorium ช่วยลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงาน ลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error) เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพการผลิตของโรงงาน รวมถึงส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้บริษัทยังพัฒนาระบบ IoT ติดตามการทำงานของเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ ตรวจเช็กความเสื่อมสภาพและป้องกันเครื่องจักรเสียหายระหว่างการผลิต (break down) ที่อาจสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับโรงงาน ทำให้ชื่อเสียงของ System Stone เป็นที่รู้จักในฐานะ Industrial Tech Startup ลำดับแรก ๆ ของไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรกว่า 7,000 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มองปัญหาให้เป็น ‘ปัญญา’ นำพาสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จ
หลังเรียนจบปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2555 สิทธิกรเริ่มต้นทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านระบบการวัดคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ให้กับโรงงานแห่งหนึ่งประมาณ 4 ปี ควบคู่กับการศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามาตรวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ระหว่างการทำงานทำให้เขาพบว่า ปัญหาใหญ่ของวิศวกรในโรงงานเกิดจากการทำงานเอกสารที่มีความซ้ำซ้อน โรงงานยังใช้วิธีกรอกข้อมูลในกระดาษ เสียชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 30-40% ไปกับการคีย์ข้อมูล นอกจากนี้ยังสำรวจปัญหาการทำงานของวิศวกรพบว่า กว่า 80% มีปัญหาเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงและยังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด เราจึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการทำงานของวิศวกรในโรงงาน”

Factorium มีจุดขายอยู่ที่บริการ ‘Knowledge Center’ ทำหน้าที่เป็นคลังความรู้ให้กับลูกค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันเทคโนโลยีของเขาได้ช่วยส่งเสริมการทำงานของวิศวกรแล้วกว่า 25,000 คน แต่กว่าจะก้าวสู่ความสำเร็จในฐานะ Tech Startup บริษัทต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุน รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านการขายและการตลาด

“เรามีวันนี้ได้ต้องขอบคุณทุนก้อนแรกจาก NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาฟังก์ชันใหม่ ๆ แล้วยังช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสตาร์ทอัพของไทยก้าวสู่เวทีสากลอีกด้วย”

หลังได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สิทธิกรตัดสินใจลาออกจากการทำงานเพื่อทุ่มเทให้กับการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างจริงจัง System Stone จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีหุ้นส่วนของบริษัทรวม 4 คน ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาพบอุปสรรคในการทำงานมากมาย รวมไปถึงทางแยกสำคัญที่ต้องเลือกระหว่าง “การทำตามเป้าหมายขององค์กร” และ “การทำตามความต้องการของลูกค้า”

“นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะมีประโยคหนึ่งที่พูดกันเสมอว่า ‘การพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่มีวันเสร็จสิ้น’ เพราะซอฟต์แวร์ต้องทำไปขายไปจนกว่าจะเป็นที่ต้องการของลูกค้า และเขายอมจ่ายเงินซื้อต่อซอฟต์แวร์ของเรา ช่วงแรกก็ท้อเหมือนกันครับ เพราะเรามีคอนเซปต์ที่อยากทำ แต่ลูกค้ามีความต้องการที่ไม่ตรงกับแนวทางในการพัฒนาแอปฯ ของเรา ตอนนั้นเราเหมือนอยู่บนทางแยกระหว่าง ‘ทิศทางในการดำเนินธุรกิจ’ หรือ ‘ทำตามความต้องการของลูกค้า’ นั่นหมายความว่า เราจะต้องเลือกระหว่างการเป็น ‘Software House’ หรือ ‘Tech Startup’ ซึ่งช่วงเวลานั้นเราแทบจะไม่มีเงินเลย มันจึงเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราเลือกทิศทางในการดำเนินธุรกิจ ผมมองว่า วันนั้นเราตัดสินใจถูกแล้ว เพราะวันนี้เรากลายเป็น 1 ใน 3 ผู้นำธุรกิจซอฟต์แวร์เกี่ยวกับระบบซ่อมบำรุงและการพัฒนาคุณภาพของโรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เทคโนโลยีที่กลายเป็น ‘Game Changer’ แห่งวงการอุตสาหกรรม
นอกจากแอปพลิเคชันนี้จะเป็นที่ยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรม สิทธิกรยังบอกด้วยว่า เหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้แอปพลิเคชัน ‘Factorium’ เพื่อสร้างระบบควบคุมคุณภาพภายในโรงงาน รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานและการดำเนินธุรกิจ จากความสำเร็จของ Factorium ทำให้ System Stone พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘JorPor Plus’ ระบบจัดการความปลอดภัยในโรงงาน รวมถึงการจัดอบรมออนไลน์ภายใต้มาตรฐานของแต่ละโรงงาน

“ทั้งสองแอปพลิเคชันของเรานำไปสู่การเป็น Game Changer ของธุรกิจนี้ เพราะการที่ซอฟต์แวร์สามารถทำงานบนมือถือได้ จะนำไปสู่วิธีการทำงานแบบ Industry 4.0 ยกระดับเทคโนโลยีในโรงงานไปอีกขั้น การเป็น IoT พูดง่าย ๆ คือ ลูกค้าของเราเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนในการทำงานและการสื่อสารระหว่างกัน ควบคู่กับการใช้ Machine Link สื่อสารกับเครื่องจักรได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น”

เป้าหมายต่อไปของ System Stone จึงไม่หยุดอยู่ที่ความสำเร็จของทั้งสองแอปพลิเคชัน หากแต่สิทธิกรยังบอกด้วยว่า อนาคตจะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็น Knowledge Center เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กร และทำหน้าที่เป็นคลังความรู้ให้กับพนักงาน

“เราอยู่ในช่วงของการศึกษาและวางแผนที่จะพัฒนา AI แม้แต่ผลิตภัณฑ์แรก ๆ ของเราก็ยังต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการของลูกค้าย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอ การจะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าหลาย ๆ องค์กรพร้อมกันได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย”

ผมจึงอยากให้กำลังใจ Tech Startup รุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพูดคุยกับลูกค้าให้มาก เพราะคนในวงการนี้ไม่ค่อยถนัดในการสื่อสารกับลูกค้า แต่เชื่อเถอะว่า การพูดคุยจะช่วยให้เรามองเห็นทิศทางการทำงานผ่านความต้องการของลูกค้า แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มของเราต่อไป”

รายละเอียดเพิ่มเติม
Factorium | Facebook
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


Caption Facebook
Factorium เทคโนโลยีกลุ่ม Industry 4.0 ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้วิศวกรภายในโรงงานสามารถบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรผ่าน Mobile Application ได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงานที่กินเวลากว่า 30-40% ทำให้วิศวกรกว่า 25,000 คนสามารถทำงานได้อย่างง่ายดาย ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพการผลิตของโรงงาน ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

จนชื่อเสียงของ System Stone เป็นที่รู้จักในฐานะ Industrial Tech Startup ลำดับแรก ๆ ของไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรกว่า 7,000 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
#GMLive #StartupFounder #Factorium
#สิทธิกรนวลรอด #NIA #StartupThailand

Biom

สร้างความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี Synthetic Biology กับ Biom

HG Robotics นวัตกรรมหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ในงานภาคอุตสาหกรรมทุกชนิด ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ต่อยอด เพื่อให้ได้ผลิตผลและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น นั่นคือวัฏจักรของอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ได้เกือบทุกครั้งก็คือ ‘การใช้เทคโนโลยี’ เทคโนโลยีเพื่อทุ่่นแรง เทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา เทคโนโลยีเพื่อนำพาไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีในสายงาน ‘Synthetic Biology’ หรือ ‘ชีววิทยาสังเคราะห์’ ก็เป็นอีกคลื่นลูกใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตาในแวดวงอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่

ศจ.ดร. อลิศา วังใน แห่งภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง ‘Biom’ บริษัท Startup ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ได้เล็งเห็นความสำคัญของการมาถึงของอนาคตที่โลกแห่งชีววิทยาสังเคราะห์จะไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป

Biom: ชีววิทยาสังเคราะห์เพื่ออุตสาหกรรมไทย
ความสำคัญทางด้านการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ในงานภาคอุตสาหกรรมหลักนั้นเริ่มทวีปริมาณมากขึ้นในระยะเวลาที่ผันผ่านไป และ Biom บริษัทลูกที่ก่อตั้งโดยคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นทั้งสถานที่ทำการวิจัยและดำเนินการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นในตลาดใช้งานจริง

“Biom เป็นบริษัทลูกจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวธุรกิจหลักก็จะเป็นการวิจัยด้าน Bio Technology โดยเฉพาะด้านชีววิทยาสังเคราะห์หรือ Synthetic Biology โดยมีโมเดลธุรกิจสองแบบ แบบแรกคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง และสามารถประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับตลาดได้ และส่วนที่สอง คือการนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยการร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์และแก้ปัญหาด้าน Biotech ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ” ศจ.ดร. อลิศา วังใน กล่าวอธิบาย

ปัจจุบัน บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริงออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น

  • จุลินทรีย์ย่อยสลายยาฆ่าแมลงในผลผลิต
  • น้ำยาล้างผักเอนไซม์ย่อยสลายยาฆ่าแมลง
  • ตัวเซนเซอร์โมบายล์ตรวจสอบสารพิษในผลิตภัณฑ์การเกษตร

ได้รับความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท BBGI PCL ที่เป็นทั้งคู่ค้า ผู้ใช้งานในฟาร์ม และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Biom มาจนถึงปัจจุบัน

ใช้ช่วงเวลาวิกฤติ เพื่อคิดรูปแบบธุรกิจและกระชับแนวทาง
การก่อตั้ง Biom ในปี 2019 ช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 นั้นไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบง่ายนัก แต่ศจ.ดร. อลิศา วังใน ได้กล่าวว่า เป็นช่วงที่บริษัทได้ใช้อย่างคุ้มค่าในการนั่งคิดแนวทางที่จะก้าวและขยายตัวต่อไป

“ต้องบอกว่า เราก่อตั้งในช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะลำบากพอสมควร ธุรกิจหลายแห่งหยุดชะงัก แต่กลับเป็นช่วงที่เราใช้เวลาเต็มที่ในการนั่งคิดแนวทางธุรกิจ และเป็นช่วงที่ BBGI PCL ซึ่งเป็นผู้ลงทุนได้เข้ามาพูดคุย ซึ่งถือว่าเร็วมากแค่ภายในหกเดือน จนทำให้ปี 2020 เป็นเวลาที่พูดคุยเรื่องการระดมทุน ปรับแผนธุรกิจ และปรับรูปแบบองค์กร พอปี 2021 ก็ประกาศเรื่องการร่วมทุน เปิดตัวในตอนนั้น”

ความชัดเจนในแนวทางธุรกิจ บวกกับผู้ซื้อที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและความต้องการใช้งาน ช่วยให้ Biom สามารถก้าวต่อเนื่องไปได้ในปีถัด ๆ ไปอย่างมั่นใจ แม้จะเป็นหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปแล้ว

NIA กับความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกขาดของ Biom
การเข้ามาของ NIA มีส่วนช่วยให้ Biom สามารถก้าวกระโดดในจังหวะที่สองได้อย่างมั่นคง จากการสนับสนุนด้านเงินทุนและการวิจัยที่มี

“NIA มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขยายตัวของ Biom โดยเฉพาะทุนในการผลิตชุด Bio-Sensor ในปี 2022 เป็นงบวิจัยในการมาสนับสนุน ส่วนที่สอง คือการสร้าง Synbio Consortium ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ กับ NIA ทำให้เราเป็นที่รู้จักของหน่วยงานอื่น ๆ” ศจ.ดร. อลิศา วังใน กล่าวเสริม

แน่นอนว่าการสนับสนุนนี้ยังมีจุดที่ศจ.ดร. อลิศา วังใน มองว่าสามารถขยายเพิ่มขึ้นไปได้อีกขั้น

“ความช่วยเหลือนั้นมีให้เห็น แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ ‘ระดับ’ ของความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละบริษัทมีระดับการเติบโตที่หลากหลาย ความช่วยเหลือเบื้องต้นเกิดขึ้น แต่ความช่วยเหลือในระดับถัดไป ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมี”

ความคาดหวัง และก้าวต่อไปของ Biom
ในปัจจุบัน นอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์ทางด้าน Synthetic Biology ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในภาคการเกษตรแล้ว ทาง Biom ยังเป็น Partner ร่วมวิจัยผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ยังไม่ถูกนำออกสู่ตลาดอีกจำนวนหนึ่ง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่วางไว้ข้างหน้า

“สำหรับตัวจุลินทรีย์ เรากำลังพยายามออกไปทางประเทศทางเกษตรอย่าง ประเทศลาว, พม่า, เวียดนาม ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็มีการพูดคุยกับลูกค้าต่างชาติและสถานที่ผลิตที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงงานวิจัยที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมอยู่ตลอด ถ้าเป็นความคาดหวังอย่างแรกสุดคือการมีผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานอย่างหลากหลายในต่างประเทศ อย่างที่สองคือการเป็นต้นแบบให้กับบริษัทอื่น ๆ เป็นมาตรฐาน และอย่างสุดท้ายคือการมีกำลังผลิตที่สูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว”

ศจ.ดร. อลิศา วังใน ยังได้ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่จะก้าวเข้ามาในธุรกิจ Startup ในเวลาถัดไปได้อย่างน่าสนใจ

“สอนนักศึกษาทุกคนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าสู่ธุรกิจ Startup อยู่ตลอด นอกเหนือจากการใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีความอดทน โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นธุรกิจ จะมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไขและฟันฝ่าไปค่ะ” ศจ.ดร. อลิศา วังใน กล่าวทิ้งท้าย

รายละเอียดเพิ่มเติม
Biom
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


Caption Facebook
เสริมประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ด้วยเทคโนโลยี Synthetic Biology จากฝีมือคนไทย ที่พร้อมจะก้าวไปสูระดับสากล

HG Robotics

HG Robotics นวัตกรรมหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

HG Robotics นวัตกรรมหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ดร.มหิศร ว่องผาติ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด

เอชจี โรโบติกส์ ผลิตและพัฒนาคิดค้นหุ่นยนต์ และอากาศยานแบบไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) โดยทีมวิศวกรไทยที่มีประสบการณ์ดำรงอยู่มายาวนานมากกว่า 10 ปี โดยเป็นโดรนเพื่อการเกษตรและการสำรวจสำหรับเกษตรกรไทยนำมาใช้และสร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มพูน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมี ดร.มหิศร เป็นผู้นำ พร้อมด้วยทีมงานนับร้อยชีวิตที่มี Passion เกี่ยวกับหุ่นยนต์อย่างแรงกล้า มีความจริงใจในการทำงาน พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ตื่นขึ้นมาทำงานทุกวันโดยไม่มีคำว่าเบื่อหน่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเทศและชีวิตของใครบางคนให้ดีขึ้น โดยใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือ

“จุดเริ่มต้นเกิดจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่แข่งขันหุ่นยนต์ Robocup ที่มีการจัดแข่งขันในประเทศไทย ช่วงต้นปี ค.ศ. 2000-2003 เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มารวมกลุ่มกันซึ่งสลับกันได้แชมป์รายการ หลังจากนั้นในช่วงประมาณปี 2006-2008 ต่างก็เติบโตแยกย้ายไปเรียนต่อในต่างประเทศทั้งที่ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป แต่ยังมีการติดต่อพูดคุยกันตลอด ซึ่งทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการจัดตั้งบริษัท หลังจากนั้นปี ค.ศ. 2011 ก็ได้มีการจดทะเบียนบริษัทขึ้นมาซึ่งเรายึดกับหลักการ “First Who, Then What” ซึ่งเป็นคำพูดที่อยู่ในหนังสือ Good to Great ที่เขียนโดย Jim Collins ซึ่งมียอดขายมากกว่าสี่ล้านเล่มทั่วโลก หมายถึงการที่เราต้องหาคนที่เหมาะสมมาร่วมมือกันในการทำงานก่อน แล้วจึงค่อยมาดูว่าคนเหล่านั้นแต่ละคนจะมาทำอะไรร่วมกันบ้าง”

เมื่อตัดสินใจกระโดดเพื่อลองทำสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน เรียกได้ว่าเป็นการกระโจนขึ้นรถโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมุ่งสู่อะไร ดีรู้แต่เพียงว่าพวกเขามีพลขับที่รู้เรื่องเส้นทาง มีนายช่างที่รู้เรื่องเครื่องยนต์ และมีเส้นทางที่ต้องฝ่าฟันไป การผจญภัยจึงเริ่มต้นขึ้น

“เราเริ่มต้นจากการจัดตั้งบริษัท ใครมีโปรเจ็คอะไรให้ทำก็มาคุยกัน ช่วงแรกๆ เหมือนเป็น R&D ด้วย ใครที่ตามหาบริษัทเกี่ยวกับหุ่นยนต์ เราเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีไม่มากนักในตลาด ทำให้ได้ทำงานกับหน่วยงานต่างๆ หลายแห่ง อย่างกองทัพอากาศ แต่โปรเจ็คที่เริ่มทำให้เราเข้าสู่วงการเกษตรจริงๆ ไม่ใช่โดรนเกษตรแต่เป็นเรือดำน้ำ ซึ่งนำไปสูโอกาสในการพูดคุยกับคณบดี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้บริหารบริษัทท่านหนึ่งได้ถามกับทางเกษตรศาสตร์เพื่อหาทีมที่จะดูแลเรื่องของโดรนการเกษตร อาจารย์ก็เลยแนะนำบริษัทเราให้เข้าไปคุย นับเป็นจุดเริ่มต้นและทำให้เราได้เข้าไปสำรวจตลาดการเกษตรของประเทศไทยมากขึ้น แล้วเราก็พบว่า ภาคเกษตรของไทยเป็นตลาดที่มีความต้องการหุ่นยนต์หลายหมื่น หลายแสนล้านตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ กิจกรรมในการปลูกข้าว เตรียมดิน เพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นหว่านเมล็ดหรือว่าปักชำ การดูแลรักษาอย่างการฉีดพ่นฆ่าวัชพืช ควบคุมวัชพืช ใส่ปุ๋ย ฉีดสารเพิ่มเสริมความแข็งแรง แล้วก็กำจัดแมลงตามความจำเป็น แล้วก็เก็บเกี่ยว ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ทั้งเหนื่อยยากและอันตราย ดังนั้น ตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าถ้ามีหุ่นยนต์มารองรับ จะเป็นทางเลือกที่ดีแน่นอน”

บริษัทที่เติบโตในตลาดที่เปลี่ยนแปลง

ตลาดทางการเกษตรเติบโตแต่ใช่ว่าทุกบริษัทเติบโตตามไปด้วย สำหรับ เอชจี โรโบติกส์ หนึ่งปีสู่สิบปี จากหนึ่งคนสู่นับร้อยคน หนึ่งล้านสู่นับร้อยล้าน นับเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่จำนวนตัวเลขหรือปริมาณที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ ความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำให้พวกเขาแตกต่าง

“เรา Raise Fund มาแล้วสามครั้ง รวมประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณสองร้อยเจ็ดสิบล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงานประมาณหนึ่งร้อยคน ยอดขายบริษัทก่อนโควิด-19 สูงสุดรวมประมาณ หนึ่งร้อยสิบล้านบาท ในมุมของธุรกิจ เรามีโดรนที่ขายไปแล้วในตลาดเกือบสองร้อยตัว สูงสุดในเชิง Market Share อยู่ที่ประมาณ 7% อย่างไรก็ตาม บริษัทขณะนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยน Business Model แต่สิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดของเราคือ Core Technology แล้วก็ R&D รวมทั้งทีมงานทุกคนที่เรามี ตอนนี้จะนำไปสูการพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ออกมา เพื่อตลาดโดรนการเกษตรของไทยเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่มากๆ เติบโตปีละ 200% ถ้าปีที่แล้วมีความต้องการหนึ่งร้อยตัวปีนี้จะมีลูกค้าต้องการเพิ่มอีกหนึ่งร้อยตัวหรือสองร้อยตัว เรากำลังพูดถึงตลาดที่มีมูลค่าประมาณสองถึงสี่หมื่นล้านบาทซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกห้าปีจากนี้”

มูลค่าของสิ่งที่ทำ

ไม่เพียงเพราะมองเห็นภาพที่ใหญ่กว่า มุมมองที่กว้างไกลกว่า แต่เหนืออื่นใด พวกเขาหลงใหลในสิ่งที่ทำ ไม่น่าแปลกใจเมื่อ เอชจี โรโบติกส์ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตอบโจทย์ตรงใจและเป็นที่ต้องการของตลาด และจะค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่การเป็นผู้นำบริษัทหุ่นยนต์ที่จะครองใจเกษตรกรไทยในอีกไม่ช้า

“หนึ่งสิ่งที่เราทำอยู่นี้ตอบโจทย์ Passion ทางธุรกิจได้ ทำให้เรารวบรวมคนที่สนใจเรื่องหุ่นยนต์มาอยู่ด้วยกันได้ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากท้าทาย แต่พอเราสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง คนทำก็ภูมิใจ ผลงานของพวกเราสามารถทดแทนเรื่องของการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะถ้าเราบอกว่าตอนนี้ตลาดโดรนในแวดวงการเกษตรของไทยจะมีมูลค่าสามสี่หมื่นล้านบาทแล้วไม่มีบริษัทไทยทำได้เลย ต้องนำเข้าทั้งหมด เท่ากับเราเสียดุลให้ต่างประเทศหนึ่งปีประมาณสามสี่หมื่นล้านบาท ถ้ามองในแง่การตลาด ก็ต้องบอกว่า โดรนของเรายังไม่ได้เป็นเจ้าตลาด เราก็ค่อยๆ ทดแทน แต่ที่เราทำ R&D ก็เหมือนเราสร้าง Ecosystem ให้กับวงการเกษตร พูดให้เห็นภาพชัดว่าเราผลิตโดรนให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานของประเทศได้มากกว่า ก็จะนำไปสู่โดรนที่มีคุณภาพดี ราคาจับต้องได้มากกว่า บริการหลังการขาย รวมถึงอะไหล่ที่ใช้คำว่าสมเหตุสมผล ไม่ใช่เฉพาะแค่ฮาร์ดแวร์แต่ซอฟต์แวร์ในการโดรนบินขึ้นหนึ่งลำเพื่อฉีดพ่นทางการเกษตรคือข้อมูลที่มีค่ามหาศาลของประเทศไทย คนๆ หนึ่งทำอะไร ฉีดตรงไหน ในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลนี้เป็นความสำคัญของประเทศไทย ถ้าวันนี้โดรนต่างชาติมาบินเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ทำให้รู้หมดเลยว่ามีใครทำเกษตรตรงไหน เริ่มฉีดเมื่อไหร่ ข้อมูลตรงนี้นำไปสู่ Community Output ของประเทศได้ ชาวต่างชาติก็จะเห็นตลาดและความเป็นไปของการทำเกษตรของไทย ซึ่งไม่ควรตกไปอยู่ในมือของพวกเขา”

เส้นทางสายโดรนที่กว่าจะโดน

สิบกว่าปีที่ยืนหยัดอยู่ในวงการนวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร ย่อมพบพานมาแล้วทุกฤดูร้อน หนาว ฝน ฝ่าฟันมาแล้วทั้งพายุที่ถาโถม เส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ แสงแดดที่แผดเผา ถ้าไม่แข็งแกร่ง ไม่ยืนหยัด ย่อมมาไม่ถึงวันนี้และยากที่จะไปต่อให้ถึงวันพรุ่งนี้

“พอเป็นสตาร์ทอัพก็ต้องใช้ทุนเยอะครับ บริษัทใกล้ตายมาหลายรอบ เส้นทางสายนี้ไม่ได้สวยงามหรอกครับ ผมผ่านมาหมดแล้ว คอนโดไปอยู่ในแบงค์ ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน ต้องลดเงินเดือน ต้องตัดเงินเดือน ต้องเลื่อนการจ่ายเงินเดือน ต้องไปไหว้วอนคนนั้นคนนี มาจ่าย มีครบทุกอย่างตามที่ธุรกิจสตาร์ทอัพควรจะต้องมี สิ่งที่ยังยึดใจเราไว้ คือ ความตั้งใจในการทำงานของทุกคนในบริษัท ความตั้งใจจริงของผู้ร่วมก่อตั้งทุกคน และความจริงใจในการทำงานของเรา และเราเป็นบริษัทที่โชคดี มีคนเอ็นดู คอยให้คำปรึกษา คำแนะนำทั้งทางตรงทางอ้อม แนะนำให้สู้เพื่อหาทางออกของปัญหา เราได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานหลายแห่งรวมทั้ง NIA มีนักลงทุนที่เข้าใจในสิ่งที่ต้องจ่ายต่อสิ่งที่เราทำ มี Angel Investor ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือให้ข้อมูลทั้งในเชิงการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็คอะไรต่างๆ ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไรของ CEO มือใหม่ พูดง่ายๆ เราก็มีโค้ช เราก็ยังใช้คำว่าค่อยๆ เรียนรู้ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก พลาดก็หาทางแก้ จัดการต่อไป แล้วมันก็จะดีเอง”

รายละเอียดเพิ่มเติม
HG Robotics
Facebook: HG Robotics
Facebook: Hiveground

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

คำโปรย FB
โดรนจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้อย่างไร? ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและพัฒนาคิดค้นหุ่นยนต์ และอากาศยานแบบไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) โดยทีมวิศวกรไทยที่มีประสบการณ์มายาวนานมากกว่า 10 ปี เหมาะสมที่สุดในการอธิบายเรื่องเหล่านี้ ที่สำคัญธุรกิจสตาร์ทอัพหุ่นยนต์ที่มีทีมงานนับร้อยชีวิตมองเห็นอะไร ทำไมหุ่นยนต์จึงเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงประเทศและชีวิตของใครบางคนให้ดีขึ้น

Baiya

Baiya…แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการแพทย์ ยกระดับสุขภาพและชีวิตคนไทย

Baiya…แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการแพทย์ ยกระดับสุขภาพและชีวิตคนไทย

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

ผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จํากัด

ใบยา ไฟโตฟาร์มเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ Deep Tech สัญชาติไทยที่ก่อตั้งมาเป็นเวลาเกือบห้าปีแล้ว ก่อนการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น จากการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย CU Innovation Hub ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์เทคโนโลยีทางการแพทย์โดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิต ‘รีคอมบิแนนท์โปรตีน (Recombinant Protein)’ ให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และผลิตยารักษาโรค กระทั่งมาถึงการคิดค้นวิจัยวัคซีนโควิดและล่าสุดกับชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด Baiya Rapid Covid-19 IgG/IgM Test kit™ ซึ่งใช้เทคโนโลยี Baiyapharming พัฒนาโปรตีนของไวรัส SAR-CoV-2 สำหรับใช้ในโครงการวิจัย ในโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นับเป็นความภูมิใจของวงการแพทย์ไทยอย่างแท้จริง

“Co-founder ในบริษัทมีสองท่านนะคะ คือรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ตัวดิฉันเองซึ่งจบปริญญาตรีจากเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทกับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ทำงานวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องราคายามานาน แล้วส่วนตัวเองก็เป็นแม่มีลูกนะคะ ไปเรียนที่ต่างประเทศจริงๆ ก็ไม่ได้อยากกลับมาเมืองไทย แต่กลับมาด้วยเหตุผลส่วนตัว พอกลับมาเมืองไทยก็รู้สึกว่าประเทศนี้แห้งแล้ง เติบโตไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า ประเทศไม่เปลี่ยนได้ด้วยคนที่พูดหรอกค่ะ แต่เปลี่ยนได้ด้วยคนที่ลงมือทำ ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นคนเก่งอะไร คิดแต่เพียงว่า ถ้าเราทำสิ่งที่ตั้งใจสำเร็จก็น่าจะทำให้ประเทศเราดีขึ้น”

ใบยา ชื่อที่แสนเรียบง่ายผลิตสิ่งที่เป็นปัจจัยสี่พื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่สิ่งที่ใบยาทำคือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่ใครก็ทำได้เพราะต้องผ่านการค้นคว้า คิดค้น ทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ยากต่อการเลียนแบบ

“เราเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนโดยการใช้พืช ซึ่งกระบวนการในการทำยา ประเทศไทยยังไม่เคยมีคนทำ ประเทศอื่นเขาทำได้ เราก็ควรจะทำได้ เหตุผลที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา ประการแรกเพราะรู้สึกว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงยา โดยเฉพาะยาราคาแพง เราผลิตเองไม่ได้ เราต้องนำเข้า แล้วเราก็ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ประการที่สอง ดิฉันเองสอนหนังสืออยู่ในคณะเภสัชศาสตร์ เราฝึกฝนเด็กปริญญาโท ปริญญาเอก นักวิจัยจำนวนมาก แต่ไม่มองไม่เห็น Career Path ของบัณฑิตที่เราผลิตออกมา หรือทำงานก็ได้เงินเดือนน้อย เราอยากให้ประเทศขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่คนทำงานวิจัยแล้วได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และประการสุดท้าย เราเป็นอาจารย์แล้วบางครั้งเราต้องไปสอนนักศึกษาในเรื่องที่เราเองไม่เคยทำ เคยทำงานวิจัยเพื่อเอาไปตีพิมพ์ แต่ไม่ได้วิจัยเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง พอถึงเวลาที่ทำวิจัยเสร็จแล้วเด็กถามว่าแล้วหลังจากนั้นทำอย่างไรต่อ เราก็ไม่มีทางออกให้เด็ก”

ลองผิดลองถูกจนถูกทาง
ไม่มีใครรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการค้นคว้าทดลองด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีใครตอบได้ว่าผลลัพธ์จะตรงกับสมมติฐานไหม เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ต่างก็ต้องลองผิดลองถูก ทำไปเรื่อยๆ ก่อนจะรู้ว่าทางไหนถูกหรือผิด

“ถามว่ารู้ไหมว่ามาถูกทาง ธุรกิจก็ต้องลองผิดลองถูกนะคะ เราไม่ได้แน่ใจขนาดนั้น แต่เมื่อลองแล้วผลลัพธ์โอเค มีการวางแผน มีเป้าหมาย ก็ไปต่อ ในมุมของการวิจัยเองนั้นมีหลักการวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์อยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำนั้นทำได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่เราทำนั้นไม่ได้ทำคนเดียวในนะคะ ถ้าถามว่าจุดเปลี่ยนคืออะไรที่ทำให้รู้ว่ามาถูกทาง ก็คือทำไปเรื่อยๆ ค่ะ ทำก่อนถึงรู้ว่าทำแบบไหนถูก แบบไหนไม่น่าเวิร์คก็เปลี่ยน อย่างเวลาเราเล่าให้นักลงทุนในต่างประเทศฟัง เราก็จะบอกว่า Key Milestone ที่ผ่านมาเราระดมทุนไปทั้งหมด 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีทั้งรัฐบาล มีทั้งหน่วยงานอย่าง NIA ให้ทุนมา ซึ่งตรงนี้เราใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ถามว่าเรามาถูกทางไหม…ก็คงถูก แล้วเร็วไหม…ก็คงเร็วนะคะ”

ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็น
ทุกคนรู้ดีว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้วประสบความสำเร็จทันที แต่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่มองข้ามความจริงที่ว่า “ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางความสำเร็จ” เมื่อลงมือทำกับการพัฒนา มักจะพบว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ “ความเชื่อของคน”

“อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ ความเชื่อของคนค่ะ อย่างเราอยากทำ นวัตกรรม เราก็ต้องการความมั่นคง ต้องการความแน่นอน ต้องการการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด เอาเข้าจริงนวัตกรรมไม่มีหรอกค่ะ มีแต่การเรียนรู้ การทำทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง นวัตกรรมเองก็มาพร้อมความเสี่ยงอยู่แล้ว เป็นความจริงที่ทุกคนทราบดี เราแค่ต้องเปลี่ยนความเชื่อ ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดให้ได้ เหมือนที่ใบยาเรามี เราไม่ค่อยกลัวคนทำอะไรผิด เรารู้สึกว่าการที่มีคนทำผิดแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นสมมติว่า มีคนเทน้ำแล้วทำให้อ่างเป็นรอย คำถามคือ ใครเทอะไรลงไป เราไม่ได้เรียกมาต่อว่านะคะ เราแค่จะเรียนรู้จากสิ่งนั้นว่าครั้งหน้าแสดงว่าเราไม่ควรจะเทสิ่งนั้นลงไปอีก เป็นการแชร์ความรู้กัน เรามีวัฒนธรรมว่าเราไม่ได้กลัวความผิดพลาด อย่าลืมนะคะว่า Failure is compulsory.”

สิ่งที่ควรชัดเจนที่สุด
แม้ว่าปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในเชิงธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงโลกใบนั้นก็ตาม คือ การลงมือทำ แต่สตาร์ทอัพทุกคนควรจะรู้ดีกว่าก่อนลงมือทำนั้น ยังมีปัจจัยที่สำคัญกว่า

“ถ้าไม่มีเป้าหมายไม่ต้องทำนะคะ คืออย่างใบยาเราเอง วัคซีนโควิดเป็นแค่วิธีการที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ ตอนแรกคนก็โฟกัสว่าเราทำแต่วัคซีนหรือเปล่า วัคซีนเป็นแค่เป้าหมายเดียว เราเองก็ต้องถามตัวเองว่า เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เราไม่ได้อยากได้ชื่อเสียง แต่เราอยากให้คนไทยมีเงิน มีรายได้ อยากให้นักวิทยาศาสตร์หรือจริงๆ ใครก็ตามที่ทำอะไรที่มีคุณค่าก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม อยากให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้ มีเทคโนโลยีที่ดีใช้ มีบริษัทยาเป็นของตัวเอง หลังจากนั้นแล้วเราก็ค่อยหาหนทางไปให้ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้”

ดูรายละเอียดของ Baiya เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Baiya Phytopharm และ Website: Baiya Phytopharm

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

MANAWORK

MANAWORK ระบบบริหารทีม ที่ช่วยให้โลกการทำงานไร้พรมแดน

MANAWORK ระบบบริหารทีม ที่ช่วยให้โลกการทำงานไร้พรมแดน

วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้ “การทำงานแบบไฮบริด” หรือการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นมาตรฐานใหม่แห่งโลกของการทำงาน แต่หนึ่งในปัญหาที่ทำให้หลายองค์กรยังกังวล คือ จะทำอย่างไรให้การทำงานแบบไฮบริดมีประสิทธิภาพสูงสุด

จากคำถามนี้เอง จึงกลายเป็นที่มาของการพัฒนาระบบช่วยบริหารจัดการทีมให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้อุปสรรค เสมือนนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน

แน่นอนว่า ถ้านึกถึงระบบจัดการงาน หลายคนอาจจะมีคำตอบในใจต่างกัน แต่ถ้าพูดถึงระบบจัดการงานที่พัฒนโดยสตาร์ทอัพคนไทย ต้องมีชื่อของ MANAWORK ซึ่งเริ่มต้นจากการพัฒนาเพื่อใช้ภายในบริษัทก่อนจะขยายไปสู่ลูกค้าของบริษัท และเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการที่สนใจ

กว่าจะเป็น MANAWORK
แบงค์-ธนกฤษ ทาโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอฟฟินเทค จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบ MANAWORK เล่าถึงที่มาของการพัฒนาระบบว่า แอลฟินเทค เป็นบริษัทที่ให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนองค์กรสู Digital Transformation อยู่แล้ว โดยโปรดักท์แรกที่ทำ คือ แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการจับคู่แหล่งเงินทุนต่างๆ ทั้งจากรัฐบาลและธนาคารให้กับผู้ประกอบการ SMEs

นอกจากนี้ ยังพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ตามโจทย์ของลูกค้า ทำให้บริษัทต้องบริหารงานหลายโปรเจกต์ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน จึงได้พัฒนา MANAWORK เพื่อเป็นระบบบริหารจัดการงานภายในองค์กร ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย วางแผนการทำงาน และติดตามการทำงาน ต่อมาก็เริ่มขยายไปใช้กับลูกค้าของบริษัท

“ตอนแรกเรายังไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นว่าจะมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ แต่หลังจากทดลองใช้ระบบไปได้แค่ 3 เดือน ก็เกิดวิกฤติโควิด-19 เลยตัดสินใจนำระบบ MANAWORK ซึ่งได้ฟีดแบ็กกลับมาค่อนข้างดี มาเปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของเราได้ลองใช้ฟรี ซึ่งเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวระบบไปในตัวด้วย”

คัดเลือกฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์การใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน
ธนกฤษ บอกว่า แม้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการงานต่างๆ จะมีตัวเลือกมากมาย แต่ถ้าอยากได้ซอฟต์แวร์ของคนไทยที่ให้บริการด้วยภาษาไทย มีฟีเจอร์ที่คัดสรรมาแล้วว่าจำเป็น กลับมีแค่ MANAWORK

“Pain Point ของการใช้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศที่เราพบ คือ มีฟีเจอร์เยอะมาก จนทำให้ต้องเสียเวลาเรียนรู้เพื่อใช้งาน และส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ด้านไอทีมากนัก ดังนั้นโจทย์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของเราคือ ตั้งใจออกแบบเป็นภาษาไทย พร้อมคัดเฉพาะฟีเจอร์ที่จำเป็น เน้นใช้งานง่าย โดยหลังจากที่เริ่มเปิดให้ทดลองใช้ เราก็คอยเก็บฟีดแบ็กเพื่อนำมาต่อยอด อย่างตอนแรกเราทำเป็นเทมเพลตเดียวใช้ทุกแผนก ตอนหลังก็แยกเป็นแต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายบัญชี ฝ่ายบุคคล ฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานของแต่ละแผนกมากขึ้น”

โควิด-19 เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน
“โควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ในแง่ความท้าทาย ด้วยความที่บริษัทเราอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะฉะนั้น พอเกิดวิกฤติโรคระบาด ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเจอลูกค้าได้ แต่ในแง่ของโอกาส ต้องถือว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เห็นความสำคัญของการมีระบบที่เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ จนทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานของเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด”

ทั้งนี้ ธนกฤติ ยอมรับว่า ช่วงแรกก็กังวลว่า ถ้าวิกฤติคลี่คลาย ระบบการจัดการงานจะยังจำเป็นอยู่ไหม แต่มาถึงตอนนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า ต่อให้วิกฤติจะคลี่คลาย แต่การทำงานแบบไฮบริดก็ยังคงอยู่ และ MANAWORK ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและพนักงานทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจยุคนี้เติบโตเร็วมาก ยกตัวอย่างธุรกิจขายออนไลน์ เพียง 1 ปี ยอดขายอาจจะเติบโตจาก 1 ล้าน เป็น 100 ล้าน ดังนั้นการมีระบบ MANAWORK เข้ามาช่วย ทำให้ธุรกิจคล่องตัวและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป้าหมายในอนาคต
สำหรับเป้าหมายในอนาคต ธนกฤษหวังว่า ภายใน 2 ปีจากนี้ จะสามารถขยายบริการของ MANAWORK ไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อหา Strategic Partner และพัฒนาระบบให้เป็นภาษาอังกฤษ

“จุดเด่นที่ทำให้เรามั่นใจว่า ถ้าโกอินเตอร์แล้วจะสามารถแข่งขันกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่มีในตลาดได้ คือ ฟีเจอร์เป้าหมาย (Goal) ที่ให้องค์กรตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ โดยระบบจะคอยอัพเดตความคืบหน้าให้แบบอัตโนมัติ แทนที่จะต้องให้แต่ละแผนกมา Input ข้อมูลเข้าไป”

แพชชัน คือ พลังที่ทำให้ไม่ท้อ
“ถ้าเปรียบเทียบการทำธุรกิจเหมือนการปีนเขา ผมมองว่าตอนนี้ผมยังไม่ได้เริ่มปีนเลยด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายของผมยังอีกไกล ผมเริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยแพชชันที่อยากจะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และเปิดโอกาสให้มนุษย์เงินเดือนได้มีทางเลือกในการทำงานที่ชอบจากที่ไหนก็ได้ ผมเองเป็นคนเชียงใหม่ ที่ต้องจากบ้านไปทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีโอกาสในด้านอาชีพการงานมากกว่า ผมเลยอยากพัฒนาระบบนี้ ให้ทุกคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพื่อช่วยกระจายคนออกจากเมืองหลวง และทำให้หลายๆ คนได้ทำงานที่รัก โดยได้ใช้ชีวิตในบ้านเกิด”

จากแพชชันที่แน่วแน่ดังกล่าว แม้ว่าบนเส้นทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายและอุปสรรค แต่ธนกฤษไม่เคยท้อหรือคิดจะเลิกล้ม

“ผมอาจจะโชคดีที่ค้นหาตัวเองเจอ และได้ทำในสิ่งที่ชอบ เวลาเกิดปัญหา ผมจะพยายามหาแก่นของปัญหา แล้วดูว่าใครจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง เพราะผมเชื่อว่าเราไม่ใช่คนแรกที่เจอปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นเราอาจจะต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์มากกว่า ยกตัวอย่างอย่างการที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาสนับสนุน นอกจากจะช่วยในแง่เงินทุน ยังช่วยสร้าง Ecosystem สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพในแต่ละจังหวัด ทำให้เรามี Mentor ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาช่วยให้คำแนะนำ ส่งผลให้ธุรกิจเราเติบโตอีกด้วย”

ดูรายละเอียดของ Manawork เพิ่มเติมได้ที่ manawork.com และ Facebook: Manawork

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)