Golfdigg

golfdigg มากกว่าแค่จองกอล์ฟสนาม สู่โซลูชั่นระบบบริหารสนามกอล์ฟ

golfdigg มากกว่าแค่จองกอล์ฟสนาม สู่โซลูชั่นระบบบริหารสนามกอล์ฟ

สำหรับขากอล์ฟทั้งหลาย ปัญหาคลาสสิคที่เกิดขึ้นอยู่ประจำอย่างการจองสนามกอล์ฟไม่ได้ในเวลาที่ ‘ใช่’ ต้องการสนามกอล์ฟในราคาที่เป็นธรรม ต้องการตีกอล์ฟในราคาที่ถูก เรื่องที่ฟังดูเป็นปัญหาเบสิคง่าย ๆ ท้ายสุดแล้วกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ golfdigg (กอล์ฟดิกก์) แพลตฟอร์มให้บริการจองสนามกอล์ฟ ที่เข้ามาเปลี่ยนอุตสาหกรรมกอล์ฟจากระบบออฟไลน์สู่ระบบออนไลน์ที่ทันสมัย

จากการจับมือกันระหว่าง ภริชช์ อักษรทับ CGO – Chief Golf Officer & Co-Founder ผู้หลงใหลการเล่นกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ และ ธีระ ศิริเจริญ CEO & Co-Founder ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน และฝันอยากทำสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง

“golfdigg อยู่ในตลาดมาได้ 9 ปีแล้ว เมื่อครั้งรีเสิร์ชธุรกิจนี้ใหม่ ๆ เราพบว่าไม่ใช่แค่นักกอล์ฟชาวไทยเท่านั้น แม้แต่นักกอล์ฟชาวต่างชาติก็ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี ตั้งแต่ปัญหาด้านภาษา โทรจองสนามกอล์ฟแล้วพนักงานไม่สามารถสื่อสารได้ ถ้าจองข้ามประเทศก็จะติดเรื่องเวลาไม่ตรงกัน”

ตอบโจทย์เพื่อนนักกอล์ฟ บนเส้นทางเติบโตต่อเนื่อง
ธีระ ย้อนให้ฟังว่า จากการรีเสิร์ชรอบด้าน ในเวลานั้นพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจมากมาย ไม่มีคู่แข่งตรงในตลาดนี้ อีกทั้งความได้เปรียบในเชิงตลาด โดยไทยมีผู้ให้บริการสนามกอล์ฟมากกว่า 250 แห่ง เป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักกอล์ฟทั่วโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทยจะถือโอกาสเล่นกอล์ฟ หรือเดินทางมาไทยเพื่อเล่นกอล์ฟอย่างเดียวก็มี เพราะอากาศของประเทศไทยเอื้อต่อการตีกอล์ฟได้ตลอดทั้งปี ทำให้ golfdigg เล็งเห็นเป็นโอกาสว่ากลุ่มลูกค้าไม่ใช่แค่ชาวไทย แต่ยังมองไกลไปถึงนักกอล์ฟชาวต่างชาติทั้งกลุ่มเอ็กซ์แพทและนักท่องเที่ยวด้วย

“golfdigg ในช่วงเปิดให้บริการครั้งแรก เริ่มจากการเป็น Last Minute Golf Deal หรือเอา tee time ที่นาเวลาของสนามกอล์ฟที่ยังขายไม่ได้ มาขายในราคาถูก เหมือนขนมปังที่กำลังจะหมดอายุคืนนั้น ด้วยคอนเซ็ปต์จองวันนี้ ตีพรุ่งนี้ ราคาพิเศษ golfdigg จะทำหน้าที่คุยกับสนามกอล์ฟเพื่อหาตารางที่ว่างของสนามกอล์ฟมาลงบนแพลตฟอร์ม ซึ่ง golfdigg หาลูกค้า ทางสนามกอล์ฟก็โอเค เพราะถ้าไม่มีใครมาตีเท่ากับเสียโอกาสไปเลย”

ถึงวันนี้ golfdigg เปิดโอกาสให้สนามกอล์ฟมาขายเวลาได้มากกว่า 200 สนามใน 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย นักกอล์ฟจากทั่วโลกสามารถจองสนามกอล์ฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง และได้ขยายเวลาจองจากจองวันนี้ตีพรุ่งนี้ มาเป็นจองล่วงหน้าได้นาน 0 วัน – 3 เดือน ในราคาพิเศษกว่าใคร มีผู้ใช้แล้วมากกว่า 2 แสนคนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมี NIA ช่วยสนับสนุนทุนตั้งต้นในการบุกเบิกแอปพลิเคชัน เปิดโอกาสให้ golfdigg ได้ลองผิดลองถูกไปพร้อมกับสร้างความมั่นใจให้กับ golfdigg ในเชิงการตลาด

“golfdigg ได้รับกระแสตอบรับค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ลูกค้าจองมาได้ตีจริง และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าต่างชาติคิดเป็น 70 – 80% หลัก ๆ เป็นกลุ่มเกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและยุโรป”

โควิด-19 จุดหักเห ก่อเกิด Solution ใหม่
ท่ามกลางขาขึ้นอันสดใสของ golfdigg กลับกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนอย่างไม่คาดฝัน เพราะ golfdigg ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน จนนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่

“ก่อนการเกิดโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ golfdigg เติบโตได้สูงสุดเป็น New High เท่าที่เคยเปิดตัวมา แต่พอมาเจอโควิด-19 ทำให้ทีมงานฉุกคิดและวางแผนการทำงานใหม่ว่าธุรกิจของเราไม่ควรพึ่งพิงชาวต่างชาติมากเกินไป และไม่ควรโฟกัสแค่การให้บริการ Golf Booking เพียงอย่างเดียว แต่ควรมองหา Solution อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกอล์ฟด้วย” ธีระกล่าว

จึงเป็นที่มาให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของ golfdigg ได้แก่ ระบบบริการจัดการสนามกอล์ฟโดยไม่ใช้เงินสด (Cashless), ระบบบริหารจัดการรถกอล์ฟ โดยโฟกัสไปที่การให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่จากระบบตะกั่วกรดให้กลายเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน อีกทั้งต่อยอดการพัฒนาแผงวงจรและซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานแบตลิเธียมไอออน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถกอล์ฟสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องเต็มรอบ ง่ายต่อการดูแลรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานรถกอล์ฟแต่ละคันด้วย

ถึงปัจจุบัน golfdigg ยกระดับแผนธุรกิจ (Business Model) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่   1 : B2C (Business-to-Customer) เป็น Online Golf Booking Platform เปิดให้นักกอล์ฟจองสนามกอล์ฟผ่านแอปฯ และเว็บไซต์
ส่วนที่ 2 : B2X (Business-to-Exchange) เป็นแพลตฟอร์มรวบรวม Tee-Time สำหรับการตีกอล์ฟในประเทศไทยและนำมาเปิดขายแบบ Wholesale ให้กับ Travel Agent ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีการเชื่อมต่อสำหรับ OTA (Online Travel Agent) และการจองแบบ Traditional Travel Agent
ส่วนที่ 3 : การพัฒนาระบบหลังบ้านสนามกอล์ฟ ระบบ cashless, ระบบบริหารการจัดการรถกอล์ฟ, การใช้พลังงาน และกำลังพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในสนาม

รียนรู้-พัฒนา-ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
หลังรอดพ้นวิกฤตโควิด-19 ธีระเรียนรู้บทเรียนหลายอย่าง พร้อมแชร์ประสบการณ์ถึงสตาร์ทอัพรุ่นน้องที่คิดจะเข้ามาสู่วงการสตาร์ทอัพว่า ต้องรู้จักเรียนรู้และพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ธุรกิจเติบโต

“การทำสตาร์ทอัพไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมคือ วันนี้ธุรกิจอาจกำลังเติบโตอยู่ดี ๆ วันพรุ่งนี้อาจกลายเป็นผู้แพ้ก็ได้”

“สิ่งสำคัญต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง อย่าง Business model แรก golfdigg เป็นแค่ Booking เฟสต่อไปเราจะไปสู่ความเป็น Tee Time Golf Aggregator หรือใน Business model ใหม่ของ golfdigg ที่มาสู่การพัฒนาระบบบริหารหลังบ้านต่าง ๆ เราก็คาดว่าจะขยายรูปแบบบริการไปเรื่อย ๆ เช่น การพัฒนาระบบบริการจัดการน้ำในสนามกอล์ฟ เป็นต้น”

ธีระกล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการทำงานที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

golfdigg ได้ที่: www.golfdigg.com และ Golfdigg | Facebook

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

จองสนามกอล์ฟไม่ได้ในเวลาที่ ‘ใช่’ ต้องการสนามกอล์ฟในราคาที่เป็นธรรม ต้องการตีกอล์ฟในราคาที่ถูก

เรื่องที่ฟังดูเป็นปัญหาเบสิคง่ายๆ ท้ายสุดแล้วกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ golfdigg (กอล์ฟดิกก์)
แพลตฟอร์มให้บริการจองสนามกอล์ฟ จากการจับมือกันระหว่าง ภูริชช์ อักษรทับ
ผู้หลงใหลการเล่นกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ และ ธีระ ศิริเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน
และฝันอยากทำสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง

แต่หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 golfdigg เรียนรู้และเติบโตมากกว่าแค่การจองสนามกอล์ฟ
นำไปสู่การเปิดโซลูชันใหม่ ทั้งการพัฒนาระบบหลังบ้านสนามกอล์ฟ, ระบบ cashless,
ระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานรถกอล์ฟ ไปจนถึงพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในสนาม

#GMLive #StartupFounder #golfdigg #กอล์ฟดิกก์ #จองกอล์ฟสนาม
#ธีระศิริเจริญ #ภูริชช์อักษรทับ
#NIA #StartupThailand

Verily Vision

Verily Vision นวัตกรรมเพืออุตสาหกรรมโลจิสติกส์

Verily Vision นวัตกรรมเพืออุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ปิยวัฒน์ แสงประเสริฐกฤด
ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจและการตลาด บริษัท เวริลี วิชัน จำกัด

เวริลี วิชัน ก่อตั้งขึ้นในฐานะศูนย์วิจัยพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจในด้านวิศวกรรม เพื่อพัฒนาต่อยอดและส่งเสริมประสิทธิภาพในการแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ Engineering Solution ที่เกี่ยวข้องในด้านของ Computer Vision, Internet of Things (IoT) และ Artificial Intelligence (AI) เข้าสู่กระบวนการด้านธุรกิจ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ปิยวัฒน์ แสงประเสริฐกฤด ดูแลธุรกิจและการตลาด โดยมีนวัตกรรมสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 4.0 รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันดีในแวดวงโลจิสติกส์กับระบบอ่านหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติ – ACNR และระบบอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ – ALPR

“จากวันแรกจนถึงวันนี้ ธุรกิจเราก็ดำเนินกิจการมาได้ประมาณหกปี มีผลประกอบการ แต่ใจผมมองว่า ธุรกิจยังไม่มั่นคง เราเพิ่งก้าวจากศูนย์มาถึงหนึ่ง ตอนนี้เรามีฐานที่แน่นแล้ว เราพร้อมที่จะกระโดด สิ่งที่ทำให้มั่นใจคือ หนึ่ง เราเริ่มมีรายได้ที่มั่นคง ผลประกอบการเราทำได้สามสี่ล้านบาทต่อปี เรามีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน เราเข้าใจวงจรธุรกิจว่าปัญหาธุรกิจเรามีอะไรบ้าง เรียกได้ว่า หกปีที่ผ่านมาทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น”

ปรับเปลี่ยนตัวเอง…ต่อยอดจนเจอสิงที่ใช่
“Verily Vision เริ่มต้นจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเครื่องอ่านค่าทุเรียนว่าสุกหรือดิบระดับไหน แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เราจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อหาผลิตภัณฑ์ใหม่ กระทั่งเรามาเจอจุดอ่อนของธุรกิจคอนโดมิเนียม เขาต้องการเครื่องมาช่วยอ่านเลขทะเบียนรถแบบอัตโนมัติ เราจึงเริ่มต้นกันใหม่ จากนั้นเราก็พบว่าระบบนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะอ่านป้ายทะเบียน แต่ภาคอุตสาหกรรมขนส่งก็จำเป็นต้องใช้ การเก็บข้อมูลพวกรถบรรทุกก็เป็นข้อมูลทะเบียนด้วย เราจึงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวที่สองคือ ตัวอ่านหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราไปช่วยแก้จุดอ่อนให้ธุรกิจลูกค้าได้ทั้งในเรื่องการตรวจความถูกต้องของสินค้า และช่วยตรวจสอบความปลอดภัย”

ความท้าทายคือโจทย์ที่ต้องตอบคำถาม
“ความท้าทายข้อแรกคือ ‘เราจะ Deliver งานให้ลูกค้าคนแรกได้ยังไง’ และ ‘เราจะขยายผลธุรกิจไปได้แค่ไหน’ สอง ‘การจัดทำ Business Model ต้องทำอย่างไรต่อไป’ และสาม ‘เรื่องจิตใจหุ้นส่วน ความตั้งมั่นเป็นสิ่งสำคัญ’ อย่างตอนเริ่มต้นเรามีผู้ร่วมก่อตั้งสี่คน แต่ยอมแพ้ไปสองคน”

เหรียญมีสองด้านเสมอ
“โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เจ็บตัว แต่ก็สร้างโอกาสและความแข็งแกร่งให้จิตใจ ช่วยให้เจ้าของธุรกิจตื่นตัวมากพอที่จะเตรียมพร้อมตลอดเวลา ‘ข้อดีคือ เรามีลูกค้าอยู่แล้ว แต่คู่แข่งเจอปัญหาเหมือนกัน เราจึงได้เปรียบ ส่วนข้อเสียคือ ลูกค้าตัดสินใจนานขึ้น’ แต่ท้ายที่สุดทุกคนจะเริ่มตื่นตัวด้านเทคโนโลยี”

ความฝันและความจริงต้องไปด้วยกัน
“ความฝันของผมคือ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สิ่งที่กระตุ้นให้เราดำเนินธุรกิจต่อไปคือความรู้สึกว่าเรากำลังสร้างอิมแพคให้กับประเทศ รวมถึงความรับผิดชอบที่มีต่อลูกทีม”

บทเรียนที่อยากฝากไว้
“หนึ่ง ต้องเอาให้ชัวร์ว่าธุรกิจทำได้จริง สอง ต้องอยู่บนพื้นฐานของผลประกอบการ ต้องขายได้ ต้องมีคุณค่าในเชิงผลตอบแทนด้วย”

ดูรายละเอียดของ Verily Vision เพิ่มเติมได้ที่
https://verilyvision.com
https://www.facebook.com/verilyvision/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Wendays

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ นวัตกรรมเพื่อผ้หญิงเพื่อโลก

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ นวัตกรรมเพื่อผ้หญิงเพื่อโลก

ชวิศา เฉิน ผู้ก่อตั้ง บริษัท เวนเดส์ จำกัด

WENDAYS คือชื่อของผลิตภัณฑ์แผ่นอนามัยและผ้าอนามัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิง มุ่งเน้นความอ่อนโยน กระชับรับสรีระร่างกาย ทำให้ผู้หญิงมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ความแตกต่างที่ครองใจลูกค้าคือการเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เลือกใช้วัตถุดิบที่ปราศจากสารอันตรายและปราศจากการย้อมสี ตัวบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย และบางส่วนสามารถนำไปย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยเหวิน-ชวิศา เฉิน ซึ่ง ณ วันนี้ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ Wendays ProViotic อาหารเสริมชนิดแคปซูลสำหรับช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลภายในร่างกาย รวมถึงแอปพลิเคชัน Talk to Peach ที่ปรึกษาเรื่องเพศออนไลน์ กับนักเพศวิทยาแบบไม่เปิดเผยตัวตน

“ก่อนหน้านี้คือไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นสตาร์ทอัพ ไม่ใช่ความฝัน แค่รู้สึกว่าทุกอย่างถึงเวลาพอดี ก็ทำงานเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป เคยทำดิจิทัล เอเจนซี่ ทำในส่วนของดิจิทัล มาร์เกตติ้ง แล้วก็เริ่มมาเป็นผู้จัดการโครงการ มีโอกาสได้ทำงานกับพี่ๆ ที่เป็นเจ้าของสตาร์ทอัพ ทำให้เหวินได้เห็นคนที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เราเห็นการต่อสู้ดิ้นรนของพวกเขา ว่ายากแค่ไหนพวกเขาก็ไปต่อ เหมือนแรงบันดาลใจที่ส่งมาเรื่อยๆ เป็นเชื้อเพลิง เป็นพลังที่เราสั่งสมและซึมซับมาตลอด พอโควิด-19 ถึงจุดเปลี่ยน บริษัทที่เราเคยทำงานปิดตัวลง เราต้องมาเลือกแล้วว่าเราจะไปทำงานที่ไหนดี ทำตามความฝันที่เรามีปัญหาเรื่องนี้ที่เราอยากจะแก้ไขดี ก็เป็นจุดที่กระตุ้นเราว่า เธอต้องทำแล้วนะเหวิน ถ้าไม่ทำตอนนี้ ทำตอนไหน ถ้าเรามัวแต่รอแล้วใครจะแก้ปัญหานี้ ถ้าเป็นเราเป็นคนแก้ได้ไหม”

แก้ปัญหาให้ตัวเองและการแก้ปัญหาให้ผู้อื่น จากเรื่องส่วนตัวที่เกือบจะเป็นความลับหรือแม้กระทั่งสำหรับบางคนนี้คือเรื่องที่น่าอาย ชวิศา พลิกมุมมองนำปัญหาทั้งหมดมาค้นคว้า เจาะลึก แล้วหาวิธีแก้ไข จากวันนั้นถึงวันนี้การลงมือทำของเธอไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่มีประโยชน์ต่อผู้หญิงและโลกใบนี้อย่างมหาศาล

“จุดเริ่มต้นคือแพ้ผ้าอนามัยที่มีอยู่ในตลาด สุดท้ายต้องเข้าโรงพยาบาล คุณหมอก็บอกว่าน่าจะเป็นการแพ้ผ้าอนามัย แต่บอกไม่ได้ว่าแพ้สารตัวไหน หมอให้เราสังเกตตัวเอง เพราะคนเราแพ้ได้จากหลายอย่างมาก วัสดุที่เป็นท็อปชีต กาว น้ำหอม หรือสารเคมีอื่นๆ เช่น ความเย็น กลิ่น สมุนไพร ประกอบกับเหวินโชคดีด้วยที่ได้ไปทำงานต่างประเทศ ก็เลยเริ่มไปสะสมผ้าอนามัยค่ะ เก็บมาเรื่อยๆ ห้าสิบหกสิบแบรนด์ เพื่อที่จะมาดูว่าแบบไหนที่เราใส่แล้วเราไม่แพ้ สุดท้ายก็มาค้นพบว่า การที่เราใช้อะไรที่เป็นออร์แกนิคทีมาจากธรรมชาติทำให้เราไม่มีการแพ้เลย หลังจากนั้นก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเลยพบว่าจริงๆ แล้วคนอื่นก็แพ้ แต่สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม หนึ่ง แพ้แล้วอดทน เพราะว่าไม่รู้จะบอกใคร เป็นเรื่องที่เรามองว่าเป็นเรื่องน่าอาย สอง ไม่รู้ตัว เพราะไม่มีข้อมูล ไม่เคยมีใครมาบอกในเรื่องนี้ทั้งหมดนี้ก็เลยทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้มาทำผ้าอนามัยออร์แกนิคที่ย่อยสลายได้ เพราะว่าเราใช้วัสดุจากธรรมชาติที่อ่อนโยน สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6-12 เดือน เมื่อลงเทียบกับผ้าอนามัยในตลาดก็จะประมาณ 500-800 ปี”

สร้างความมั่นใจด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
แม้จะเริ่มต้นจากความไม่มั่นใจขนาดนั้น แต่จากการเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์ทั้งบุคคลทั่วไปและหมอสูติเวช การโพสต์ตามกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊ก การค้นหาข้อมูลจากเว็บบอร์ดต่างๆ แล้วเข้าสู่กระบวนการขายด้วยการเปิดรับพรีออเดอร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ผลตอบรับจำนวนหลายร้อยคนเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้ชวิศาว่าหนทางที่เธอเลือกคงไม่มืดมนนัก

“เหวินทำการบ้าน สัมภาษณ์คนจำนวนมาก คุยกับคุณหมอซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในทุกๆ วันมีคนมาหาเนื่องจากแพ้ผ้าอนามัยเยอะมากแต่ไม่รู้ว่าตัวเองแพ้ผ้าอนามัย อย่างน้อยหนึ่งถึงสองคนทุกวัน ซึ่งก็พิสูจน์ได้ว่าผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องนี้มีอีกเยอะ ตอนเริ่มต้นก็ไม่มั่นใจนักแต่พอไปโพสต์ในเฟซบุ๊กแล้วมีออเดอร์เข้ามานับร้อยก็ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าคนที่มีปัญหาเรื่องนี้น่าจะมีจำนวนเยอะพอสมควร หลังจากตัดสินใจทำผ้าอนามัยออร์แกนิคแล้ว เหวินก็พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ อย่างผ้าอนามัยก็ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับทุกคนอยู่แล้ว เพราะทุกคนสรีระไม่เหมือนกัน แต่ก็พยายามจะออกแบบให้ครอบคลุมมากที่สุด ตอนนี้ก็เลยออกแบบกางเกงในอนามัยที่สามารถใส่คู่กับผ้าอนามัยได้เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนการเลอะ ผลิตภัณฑ์ต่อมาที่เราทำ คือ Probiotic เพื่อปรับสมดุลให้ช่องคลอด ไม่ให้ตกขาวมีกลิ่น รวมถึงสามารถช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ ได้ ถ้ารับประทานในระยะยาว จะมีส่วนช่วยในการลดการปวดประจำเดือน หรือว่าการปวดต่างๆ ในช่องคลอดหรือว่ามดลูก หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าทักมาถามเรื่องสุขภาพทางเพศเยอะมาก เรารู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มาก พอถึงจุดนึงเหวินก็ต้องไปเรียนต่อนอไปหาความรู้เพิ่มเติม ตอนนี้ก็เลยต่อยอดออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง คือเป็นแอปที่รับปรึกษาปัญหาสุขภาพเพศโดยที่ไม่ต้องระบุตัวตน ชื่อว่า Talk to Peach แอปนี้ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ทางเพศวิทยาและหมอได้มากยิ่งขึ้น”

Mindset ที่ไม่ยอมแพ้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งมาอยู่ตรงจุดนี้ได้ นอกเหนือจากตัวเธอเองแล้วคือ แรงผลักดันและแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างที่แข็งแกร่งเป็นเหมือนฐานรากที่แน่นหนาทำให้เธอยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างมีทิศทาง และการที่เธอรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่เธอทำ ไม่ใช่เพียงการทำตามกระแสหรือทำตามๆ ผู้อื่น นอกจากนี้แล้ว เหนืออื่นใดทั้งมวลที่เธอยังคงอยู่ในเส้นทางสตาร์ทอัพอันแสนยาวไกลนี้คือ ทัศนคติแบบบวกเท่านั้น

“ทั้งหมดนี้น่าจะเป็น Mind Set มากกว่า เหวินไม่ยอมแพ้ ถึงแม้จะเจอความท้าทายหรือปัญหา ก็พยายามจะหาทางไปต่อ ไม่ใช่ว่า ทุกวันมีปัญหาก็บอกตัวเองว่าไม่ทำแล้วดีกว่า หรือว่าพอแล้วดีกว่า แต่เหวินพยายามจะมอง ว่าตรงไหนเหวินทำได้ ตรงไหนที่มีโอกาส มีตรงไหนที่ยังไม่ได้ตอบโจทย์ การที่พยายามแล้วก็ไม่ยอมแพ้มากกว่า แต่ถามว่าสำเร็จไหมก็ยังไม่ถึงจุดที่เราอยากจะไป ทั้งหมดตอนนี้ไม่ใช่แก้เพื่อปัญหาตัวเอง แต่คือแก้เพื่อคนอื่น เพื่อต่อสังคม จะได้อะไรดีๆ จากสิ่งที่เหวินทำ เหวินตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เหวินทำ จะดีต่อสังคม ต่อโลกนี้ยังไง

เจ้าของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มองถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง เรามองถึงทีมงาน เรามองถึงสิ่งที่เรากำลังจะส่งมอบให้กับสังคมเราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำ ความท้าทายเดียวของเหวินและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพทุกคนที่คุยมาคือ ตัวเอง เราจะไปต่อไหม การที่เราอยากจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ถูกแล้วที่จะต้องยากมากๆ ไม่งั้นใครๆ ก็ทำแล้ว ไม่ต้องเป็นเราก็ได้”

ดูรายละเอียดของ Wendays เพิ่มเติมได้ที่
https://www.wendays.co/
https://www.facebook.com/wendays.co/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

PEAK

PEAK: เปลี่ยนงานบัญชี ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ด้วยแพลทฟอร์มสะดวก ใช้ฝีมือคนไทย

PEAK: เปลี่ยนงานบัญชี ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ด้วยแพลทฟอร์มสะดวก ใช้ฝีมือคนไทย

นพ.เดโชวัต พรมดา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท Medicense Intelligence จำกัด

PEAK: แพลทฟอร์มบัญชีออนไลน์ที่ทันสมัย

สำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กรายย่อย ไปจนถึงขนาดใหญ่ มีจำนวนพนักงานนับร้อย จุดสรุปของทุกกระบวนการทำงานใดๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในห้างร้านหรือองค์กรนั้น ย่อมหนีไม่พ้น ‘งานด้านบัญชี’ ที่จะเป็นตัวสรุปรายรับ รายจ่าย และยอดคงเหลือจากผลดำเนินงานในแต่ละไตรมาสที่ผ่านมา

นี่คือเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่น่าปวดหัวอย่างมาก เพราะงานด้านบัญชีคือหนึ่งในความยุ่งยากลำดับต้นๆ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายจิปาถะ จนถึงการจัดการเรื่องภาษี หลายครั้งที่บริษัทหรือห้างร้านต้องถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการคิดบัญชีที่ผิดพลาด ตกหล่นเพียงตัวเลขไม่กี่หลัก ทศนิยมเพียงไม่กี่จุด

PEAK: เครื่องมือบัญชีที่ทันสมัย

คุณภีม เพชรเกตุ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพสำหรับแพลทฟอร์ม ‘PEAK’ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และสร้างเครื่องมือเพื่อรองรับให้กระบวนการจัดการงานด้านบัญชีมีความสะดวก ง่าย และทันสมัย ลดความซับซ้อนยุ่งยากต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ Automation ในการพัฒนา API เพื่อให้กระบวนการงานบัญชีผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์สามารถเป็นไปได้ง่ายขึ้น” คุณภีมกล่าวถึงที่มาที่ไป ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการพัฒนาแพลทฟอร์มของตนเอง

“โดยหลักแล้ว งานด้านบัญชีจะแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ด้วยกัน คือ บัญชีการเงิน บัญชีภาษี และบัญชีภายใน ซึ่งเราสร้างโมเดลเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภท นอกเหนือจากนั้น การที่แพลทฟอร์มเชื่อมต่อออนไลน์ ยังช่วยให้การใช้งานนั้นหลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

แต่ทั้งนี้ ความสำเร็จของ PEAK จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เกิดจากการผสมผสานระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ดีพร้อมและบุคลากรที่มีความเข้าใจทั้งในตัวสินค้าและตลาดที่รองรับอยู่

“แน่นอนว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆ ครับ” คุณภีมกล่าวให้ความเห็น “แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย คือการพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจในกระบวนการด้านงานบัญชีต่างๆ และด้านธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องพัฒนาให้ต่อเนื่อง เท่าทันกับทุกความเปลี่ยนแปลง”

ย่างก้าวเพื่อผ่านวิกฤติ

อย่างที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่งต้องล้มหายตายจาก แต่สำหรับ PEAK กลับสามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่เพราะทีมที่พร้อมจะจับมือฝ่าฟันไปด้วยกัน

“ช่วงที่ยากลำบากก็คือตอนแพร่ระบาดของ COVID-19 นี่ล่ะครับ เป็นเวลาที่วัดใจกันเลย ซึ่งทางทีมก็ได้ตัดสินใจว่าจะลดเงินเดือนตัวเองลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้มีกระแสเงินสดให้ผ่านพ้นก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ ซึ่งต้องบอกว่า ทีมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราผ่านพ้นไปได้”

จุดยืนในปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคต

แม้จะมีจำนวนผู้ใช้นับล้านธุรกรรมในโลกออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์ม PEAK แต่คุณภีมก็ยังกล่าวว่านี่เป็นเพียง 30% ของสิ่งที่ได้ทำและสิ่งที่จะทำ

“ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราสามารถทำได้ กับแพลทฟอร์ม PEAK นะครับ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องการชำระเงินออนไลน์ ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ และถ้าสามารถนำเอาสถาบันการเงินเข้ามาร่วมกับแพลทฟอร์มได้ ทุกอย่างจะน่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

ข้อคิดในการทำงาน

เมื่อถามถึงข้อคิดในการทำงาน คุณภีมได้ฝากเอาไว้สี่คำ นั่นคือ ‘P.E.A.K’

Passion : มีความใส่ใจในการทำงาน
Explorer : มีความปรารถนาจะสำรวจในอาณาเขตที่ไม่เคยไปมาก่อน
Achiever : มุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย
Kind : ดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าและเพื่อนร่วมงานอย่างมีมิตรจิตมิตรใจ ใส่ใจซึ่งกันและกัน


นอกจากนี้ คุณภีมยังฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ว่าการคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการและช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่จริงของลูกค้า คือหัวใจที่สำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จที่ไม่อาจมองข้ามได้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

เว็บไซต์: https://www.peakaccount.com/
เฟซบุ๊ก: https://www.facebook.com/peakengine/?locale=th_TH
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ETRAN

ETRAN : มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจสะอาดและรักษาสภาพแวดล้อม

ETRAN : มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจสะอาดและรักษาสภาพแวดล้อม

นพ.เดโชวัต พรมดา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท Medicense Intelligence จำกัด

ETRAN: มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

เป็นที่ชัดเจนในข้อหนึ่งที่ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ ‘รถมอเตอร์ไซค์’ มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทั้งจากสภาพความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและความคล่องตัวด้านการใช้งาน ไม่ว่าจะใช้ตามบ้านหรือใช้ในการขนส่ง แต่ก็เช่นเดียวกับยานพาหนะอื่นๆ มอเตอร์ไซค์ผลิตมลภาวะได้ไม่น้อยไปกว่ารถยนต์หรือการขนส่งทั่วไป

แต่เมื่อฐานความคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การใส่ใจต่อปัญหาที่เริ่มมีการตระหนักรู้อย่างจริงจัง ทำให้ยานพาหนะอย่างยานยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และสามารถจับต้องได้มากขึ้นในช่วงนี้

และนี่ก็เป็นโอกาสสำหรับ คุณสรนัญช์ ชฉัตร ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ‘ETRAN’ ที่นำเสนอทางเลือกให้กับผู้ใช้ยานพาหนะชนิดนี้แก่คนไทย โดยสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและเดินหน้าสู่การตลาดเต็มตัว

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า แม้มอเตอร์ไซค์จะเป็นยานพาหนะที่คนไทยส่วนใหญ่เลือกใช้ แต่พฤติกรรมการเลือกซื้อและเลือกใช้ ที่ยังติดอยู่กับยี่ห้อและคุ้นชินกับแบรนด์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถลบล้างได้ในเวลาอันสั้น แต่คุณสรนัญช์กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป

‘มองในแง่หนึ่ง ประเทศไทยโชคดีที่มีอุตสาหกรรมการผลิตรถมอเตอร์ไซค์และองค์ความรู้ต่างๆ แต่สิ่งที่ขาดคือแนวคิดและรูปแบบธุรกิจในการผลิตที่สะอาด และนำพารถสองล้อของเราไปให้ไกลกว่าการเป็นแค่ยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางหรือเทคโนโลยี’ คุณสรนัญช์กล่าว

ดังนั้น ETRAN จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่เป็นรูปแบบธุรกิจที่จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ให้ก้าวไปข้างหน้า ไปสู่อาคตใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

การแพร่ระบาด COVID-19 กับสองล้อที่ยัง ‘เคลื่อนไป’

ในรอบสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนักหน่วง ภาคอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพหลายแห่งก็จำต้องปิดตัวลง การระดมทุนมีการชะลอตัว แต่สำหรับ ETRAN กับธุรกิจสองล้อแห่งอนาคตนี้กลับมองเห็นโอกาสที่ยัง ‘เคลื่อนไป’ อย่างไม่หยุดยั้ง

‘แน่นอนว่าการแพร่ระบาดทำให้หลายอย่างชะงักลงครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลยคือ พี่ๆ ‘ไรเดอร์’ ที่ยังคงทำงานต่อเนื่องทุกท่าน’ คุณสรนัญช์กล่าว ‘รถมอเตอร์ไซค์กลายเป็นเส้นเลือดในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด และนั่นเป็นจังหวะที่เราสามารถสร้างตัวรถมอเตอร์ไซค์ต้นแบบ โดยอาศัยช่วงเวลาดังกล่าว และต่อยอดระดมทุนจากสิ่งนั้นออกมาได้’

การเติบโตอย่างรวดเร็วในธุรกิจยานยนต์

แต่ก็เช่นเดียวกับทุกธุรกิจ ไม่มีวิธีการหรือ Solution ใดที่สามารถใช้ได้กับทุกปัญหา ความเข้าใจต่อผู้ใช้งานและฐานผู้บริโภค คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ของผู้คน

‘ตลาดสองล้อใหญ่มาก มีนวัตกรรมหลากหลายที่สามารถทำได้ ดังนั้นการที่เราเป็นบริษัทขนาดเล็กจึงต้องเคลื่อนไหวให้ไว เข้าถึง Segment ที่ยังไม่เคยมีใครเข้ามา พอเรายืนหยัดขึ้นได้ ก็ถึงเวลาที่จะเสริมความแข็งแกร่งและต่อยอดการบริการใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นครับ’

ในตอนนี้ ETRAN มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถชนะรางวัลระดับโลก และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่เรียกได้ว่าพร้อมในทุกกระบวนการของต้นน้ำและปลายน้ำ

แนวคิดเบื้องหลังการทำธุรกิจ

เมื่อเราถามถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำธุรกิจ และสิ่งที่พวกเขาอยากจะฝากถึงกลุ่มคนทำสตาร์ทอัพรุ่นหลังนั้นคืออะไร? คุณสรนัญช์กล่าวว่า ‘โลกได้เปิดโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ที่มองเห็นโอกาส และมุ่งหวังจะทำให้โลกดีขึ้น ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า โลกจะต้องการสิ่งนั้นของคุณ เช่นเดียวกับแนวคิดหลักของบริษัทของเราที่ว่า เราพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่โลกที่ดียิ่งกว่าครับ’

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์: https://www.etrangroup.com/
เฟซบุ๊ก: https://www.facebook.com/ETRANgroup/?locale=th_TH
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

NoBitter

NoBitter…ความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหารของคนเมือง

AIYA แชตบอท เพื่อ SMEs – ค้าออนไลน์ พันธมิตรระดับโลก

ดร. วิลาส ฉำเลิศวัฒน์  ผู้ก่อตั้งบริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด

noBitter คือ Mini Plant Factory หรือโรงงานปลูกพืชขนาดเล็กใจกลางเมือง ที่สามารถควบคุมปริมาณสารตกค้างในพืชได้เอง ผลิตภัณฑ์ของ noBitter คือผักสดปลอดสารพิษที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมทาน และกำลังพัฒนานวัตกรรมสารสกัดเพื่อสุขภาพ โดยมี ดร. วิลาส ฉำเลิศวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมเป็นผู้นำทัพ ร่วมกับทีมงานที่มุ่งสร้างคุณค่าจากพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

ความสำเร็จของ noBitter ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะเริ่มจากศูนย์จนถึงปัจจุบันที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำด้านผักปลอดสารพิษจากฟาร์มแนวตั้ง และยังคงคิดค้นพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง
“ตัวผมเองเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย ศึกษาจากอินเทอร์เน็ต ดูยูทูป ไปงานแสดงสินค้าต่าง ๆ จนวันนี้เรามี **know-how** มากพอที่จะถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ แต่ถ้าวันนั้นมาถึง นั่นอาจแปลว่าเราเผชิญกับสภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง”

จากพื้นที่ว่างสู่การส่งมอบความปลอดภัย การเริ่มต้นของ noBitter ในปี 2018 คือการใช้พื้นที่ว่างในเมืองสร้างฟาร์มในร่มด้วยเทคโนโลยี Indoor Vertical Farm
“เราเริ่มจากการทดลองปลูกผักที่ Siam Square ซอย 2 โดยการลงทุน 1 ล้านบาท แม้จะเจอปัญหามากมาย แต่สุดท้ายเราก็พัฒนาฟาร์มในรูปแบบของเราเอง และได้จดอนุสิทธิบัตร”

นอกจากการปลูกผักเคลเพื่อขาย noBitter ยังเน้นส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้กับผู้บริโภค แก้ไข 3 ปัญหาหลักในประเทศไทย
1. แก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผัก
2. ลดการปนเปื้อนในการขนส่ง
3. ลดอาหารขยะ (Food Waste)
“ผักจากฟาร์มเราส่งตรงถึงผู้บริโภคในวันรุ่งขึ้นหลังเก็บเกี่ยว และสามารถบริหารจัดการการสั่งซื้อผ่านซอฟต์แวร์ได้”

แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการใช้พื้นที่ว่างมาปลูกผักและจำหน่ายผักสดปลอดสารพิษ **noBitter** กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง
“เรากำลังเปลี่ยนจากการปลูกผักสด มาเป็นการสกัดสารสำคัญจากพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท”

วิกฤตโควิด-19
วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในเชิงบวกและลบ
“ช่วงล็อกดาวน์ ลูกค้าหาเราเจอทางอินเทอร์เน็ตและยอดขายผักสดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัว เราออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น Paris Kale Cheese Croissant หรือ Itaewon Kale Kimchi เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการกิน”

ชีวิตที่ไม่ขม จากผักที่ไม่ขม
การเริ่มต้นธุรกิจเพื่อเปลี่ยนโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย
“เราต้องการปฏิวัติวงการเกษตรไทย เราไม่อยากเห็นเกษตรกรยากจน และเจ็บตายเพราะยาฆ่าแมลง แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงเสมอ แม้จะล้มหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่ล้ม ก็ขอให้ลุกขึ้นใหม่”

ายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ noBitter
-Website: [https://nobitter.life](https://nobitter.life)
-Facebook: [https://www.facebook.com/nobitterlife/?locale=th_TH](https://www.facebook.com/nobitterlife/?locale=th_TH)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

HealthTAG

HealthTAG…แพลตฟอร์มแก้ปัญหาข้อมลสุขภาพอย่างยังยืน

AIYA แชตบอท เพื่อ SMEs – ค้าออนไลน์ พันธมิตรระดับโลก

นพ.เดโชวัต พรมดา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท Medicense Intelligence จำกัด

HealthTAG หรือเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ก่อตั้งและพัฒนาโดย นายแพทย์เดโชวัต พรมดา ปัจจุบันรู้จักกันในฐานะที่เป็นบัตรประจำตัวสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ คล้ายกับบัตรประชาชนด้านสุขภาพที่บันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record) โดยมีกุญแจฝังอยู่ในชิปเข้ารหัสแบบพิเศษที่ใช้เป็นตัวกลางในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยทางข้อมูล (Data Privacy) โดยผู้ที่มีสิทธิเก็บและเข้าถึงข้อมูลได้คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเขาเจอปัญหาซ้ำๆ และแทนที่จะอยู่เฉย เขาลงมือทำเพราะเขาเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรได้รับการแก้ไขและมีทางออกเสมอ

“ผมไม่ได้เป็นคนที่ต้องวางแผนเยอะ แต่เน้นที่การลงมือทำ เน้นที่การแก้ปัญหามากกว่า ผมชอบคำพูดหนึ่งของเนลสัน แมนเดลา ‘It always seems impossible until it’s done.’ ทุกอย่างที่ดูยาก ดูเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งเราทำเสร็จ เป็นปรัชญาที่ผมค่อนข้างเชื่อ ต่อให้โจทย์มันยากก็มักจะมีหนทางในการแก้ปัญหา ทุกอย่างเป็นโจทย์ที่มีคำตอบ”

ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของทางออก

ถ้าไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น และเมื่อปัญหาได้รับการค้นพบโดยคนที่ชอบแก้ปัญหา จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้

“ต้องเท้าความไปนิดหนึ่งว่า โดยพื้นฐานผมเป็นเด็กเล่นเกม ขี้เกียจ ชอบแก้ปัญหา ชอบเอาชนะ เรียนจบมานานแล้ว เรียกได้ว่า จบปุ๊บจับผลูมาสร้างผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็ว่าได้ เพราะอยู่มาวันหนึ่ง ผมตั้งข้อสงสัยในงานที่ทำ ซึ่งเจอปัญหาเดิมซ้ำๆ ส่วนตัวถ้าปัญหาเดิมเกิดขึ้นสามครั้ง ผมคิดว่าควรจะได้รับการแก้ไข ปัญหาก็คือเวลาที่คนไข้มาหาหมอ ทำไมหมอต้องพูดเรื่องเดิม ปัญหาเดิมซ้ำๆ ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจทำไมไปมาตั้งห้าโรงพยาบาล ให้กินยาอะไรบ้างถามคนไข้ก็ไม่รู้ ถุงยาก็ไม่เห็น ผมตั้งคำถามแล้วสุดท้ายพบว่า เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลของคนไข้ยังไม่เป็นมาตรฐานดีพอ จริงๆ ผมก็ไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีอะไรมากมายครับ เรียนแพทย์มาโดยตรงเลย แต่มีเพื่อนๆ ที่จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์ ก็ไปเล่าถึงสิ่งที่เราอยากแก้ไขให้เขาฟัง แล้วเขามองว่าฟังดูมีเหตุมีผลและน่าจะเป็นประโยชน์ มีเราเป็นตัวเริ่มต้น เพื่อนเป็นโซลูชั่น ช่วยกันสร้างเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ พูดง่ายๆ คือเราคิดที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแลกเปลี่ยน เป็นแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางครับ โดยตอนแรกที่เราสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาคือเป็นแอปพลิเคชัน ตอนนี้ก็เหมือนเป็นบัตรประจำตัวสุขภาพสำหรับเข้าสู่ระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล สามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือเครื่องอ่าน NFC เพื่อเข้าดูข้อมูลสุขภาพได้ คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ไม่ต้องให้เขามาโหลดแอปฯ ครับ เราแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถเข้าถึงได้ทุกคน”

โควิด-19 คือตัวเร่งปฏิกิริยา

ปัจจุบันนี้ HealthTAG ได้เข้าไปมีบทบาทในวงการการแพทย์แล้ว แต่ยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่ การให้ความรู้และผลักดันทำให้เกิดการนำไปใช้จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ ณ วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเร็วกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว เพราะหากจะนับไปอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-10 ปี แต่เมื่อมีวิกฤติโควิด-19 เท่ากับเขย่าวงการแพทย์ให้ตื่นตัวมากขึ้น เรียกได้ว่า โควิด-19 คือตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ทุกคนในวงการแพทย์ตระหนักว่า ข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันนั้นสำคัญมาก “ทุกคนรู้แล้วครับว่าระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่การที่จะทำให้สถานพยาบาลต่างๆ ยอมจ่ายเงินกับระบบนี้อาจจะยังเร็วเกินไป แต่ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปครับ เราเองก็คือได้ก้าวเข้าไปอยู่ในตลาดแล้ว มีลูกค้าแล้วครับ ช่วงแรกลูกค้าคือรัฐบาล ช่วงหลังๆ ก็มีทั้งทางรัฐและเอกชนครับ เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลศิริราชทั้งเครือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และกำลังขยายสู่โรงเรียนแพทย์อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทางด้าน Active user ในระบบปัจจุบันเรามีประมาณ 10,000 ราย แต่ว่าในส่วนของข้อมูลที่มีการบันทึกอยู่ในระบบเกินห้าแสนแล้วครับ แค่นี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่าทุกคนมีความต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้บนความยินยอมของเจ้าของข้อมูล เรากำลังพยายามทำให้เห็นว่าถ้ามีระบบอำนวยความสะดวกที่ดี ก็ทำให้เกิดการใช้งานข้อมูลมากยิ่งขึ้นและง่ายขึ้นได้ครับ”

ความไม่รู้คือความยากแต่ไม่ใช่อุปสรรค

กว่าจะรู้ กว่าจะมั่นใจ ว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดำเนินมาถูกทางแล้ว เราไม่ได้คิดไปเอง อาจจะต้องทุ่มเทและใช้เวลาไปไม่น้อย ระหว่างทางที่เวลาหมุนไป ไม่ใช่แค่ต้องลงมือทำเท่านั้นแต่ยังต้องพยายามให้มากพอ “ความยากคือ ผมไม่ได้จบธุรกิจ เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียวคือทางการแพทย์สอง แพลนในกระดาษจะสวยงามแค่ไหน ก็ไม่ยากเท่าการลงมือทำ เพราะมีทั้งองค์ประกอบทางด้านจิตใจ ด้านปฏิบัติการ เรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจต่างๆ ไม่ง่ายเลยครับ พอเราไม่มีความรู้ก็ต้องศึกษาค้นคว้าทดลองมากพอ จนพบว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือสิ่งที่จะทำให้คนจ่ายเงินเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของเราได้จริงๆ ตอนที่เราเริ่มต้นไม่มีทางรู้หรอกว่าทำไปแล้วจะรอดไหม ถ้ารอดในประเทศจะมีความต้องการในระดับโลกหรือเปล่า เราดำเนินการมาสักพักมาประมาณสองปีกว่าครับ แล้วก็เริ่มได้รับรางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศในหมวด Cross Category – Start-Up จาก Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2022 เข้ารอบแปดทีมสุดท้ายที่ Tech Investment Show 2023 ห้าทีมสุดท้ายที่เข้ารอบในงาน Mobile ID by NBTC 2023 เป็นต้น ซึ่งทำให้เราคิดว่า สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่การตอบโจทย์ในระดับประเทศ แต่เป็นการตอบโจทย์ในระดับโกลบอล เรามั่นใจว่าในระดับสากลมีความต้องการด้านนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราคิดไปเอง”

แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ไม่มีใครรู้ว่าตอนที่เริ่มต้น สิ่งที่เราทำจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ หรือเปล่า จะดีกว่าไหมถ้าค่อยๆ หาทางแก้ปัญหาไปทีละขั้นตอน ค้นหาสาเหตุ ทดลอง เปลี่ยนวิธีการ และโฟกัสกับปัจจุบันอย่าเพิ่งฝันถึงตอนจบ “ตอนเริ่มต้น ผมไม่รู้เลยครับว่าผมจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า ถ้าเกิดว่ากระโดดไปที่การแก้ปัญหาเลยก็เหมือนการจินตนาการ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ว่าเป็นไปไม่ได้จริง ก็พยายามคิดหาสาเหตุครับ อย่างวันที่ผมเข้ามาทำเรื่องข้อมูลทางการแพทย์ ทุกคนไปโฟกัสว่าการแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ต้องรอตรวจนานเกิดจากระบบคิวที่ไม่ดี เราต้องมีระบบที่ทำวิดีโอคอลคนไข้ได้ คนไข้จะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่จริงๆ แล้วอย่าลืมว่า จำนวนแพทย์ยังเท่าเดิมนะครับ ระบบคิวอาจช่วยแก้ปัญหาความแออัดได้บ้างขณะ แต่ถ้ามีข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตื้นหรือลึกแค่ไหน ระบบของเราจะบันทึกไว้ทุกอย่าง มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงกันหมด คนไข้ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลบ่อย แต่ว่ามาเฉพาะที่จำเป็น มองว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดว่า ผมกำลังทำให้การจัดการบริหารข้อมูลดีขึ้น ธุรกิจของคนส่วนใหญ่อาจจะพยายามไปแก้ที่ปลายน้ำครับ ทุกสิ่งทุกอย่างมักเป็นอย่างนี้ บางช่วงเวลาถ้าธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำสามารถขายได้หรือเติบโตได้ก็เป็นไปได้ครับ ผมแค่จะบอกว่าต้องดูที่ช่วงเวลาด้วย เช่น ปัญหารถติด ถ้าบางคนมองว่าแก้รถติดต้องสร้างทางด่วนเพิ่มก็ทำไป บางคนมองว่ารถติดต้องแก้ที่ผังเมืองไม่ต้องไปทำถนนเพิ่มก็หาวิธีแก้ผังเมืองซึ่งก็จะเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืนกว่า ส่วนตัวผมก็เชียร์ที่จะให้ทำธุรกิจที่ยั่งยืน”

รู้จักตัวเองแล้วสร้างสมดุล

มีคนมากมายที่สนใจจะทำธุรกิจ และใช้เวลาทุ่มเทไปกับการศึกษาหาความรู้และเข้าใจทฤษฎีต่างๆ อย่างแจ่มแจ้ง จนหลงลืมที่จะทำความรู้จักตัวเองและสำรวจรากฐานชีวิต ที่สำคัญที่สุด ตราบใดที่เขายังไม่ลงมือทำก็ยังนับว่าห่างไกลกับจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ “ผมเน้นการลงมือทำ ถ้าเราขาดประสบการณ์ เราก็ไปเรียนรู้ในที่ที่ให้ประสบการณ์กับเราได้ ถ้าเราขาดเงิน เราก็หาเงินก่อน ถ้าเราขาดทั้งสองอย่าง เราต้องบาลานซ์ให้ได้ รอวันที่เราพร้อมแล้วเราก็กระโดดเข้ามาเล่น พื้นฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าตัวเองมีอะไร ขาดอะไร หาเวทีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัวเอง บาลานซ์ให้ดี หลังจากนั้นเมื่อเรามีความมั่นใจ มีเงิน มีประสบการณ์มากพอ เราก็กระโดดไปในเลเวลถัดไป”

ดูรายละเอียดของ HealthTAG เพิ่มเติมได้ที่: https://healthtag.io/th และ https://www.facebook.com/mihealthtag/

# Startup, NIA, Startupfounder, HealthTAG,
1680X726

LEARNING

1680X726

ACTIVITY

ACTIVITY

chonburi-sea-of-opportunities-2017-cover-e1527495225692

2017: SCALE UP ASIA, CHONBURI “SEA OF OPPORTUNITIES”

2017: SCALE UP ASIA, SONGKHLA “SEA OF OPPORTUNITIES” พบกับการพัฒนาสตาร์ตอัพระดับภูมิภาค ในจังหวัดชลบุรี และ จังหวัดสงขลา เพื่อกระจายความรู้การประกอบธุรกิจ เฟ้นหาผู้ประกอบการหน้าใหม่ และแลกเปลี่ยนไอเดียกับเหล่าสตาร ...

sea-of-opportunities-cover-1-e1527494632385

2017: SCALE UP ASIA, SONGKHLA “SEA OF OPPORTUNITIES”

2017: SCALE UP ASIA, SONGKHLA “SEA OF OPPORTUNITIES” ต่อยอดสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค ในจังหวัดสงขลา เพื่อแสดงพลังขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศ พร้อมทั้งฟังความรู้จากวิทยากรชั้นนำ และชมนิทรรศการระบ ...

mekong-connect-khonkaen-2017-cover-e1527495143423

2017: SCALE UP ASIA, KHON KAEN “MEKONG CONNECT”

2017: SCALE UP ASIA, KHON KAEN “MEKONG CONNECT” จากความสำเร็จการจัดงานในระดับภูมิภาคของ Startup Thailand นำไปสู่การขยายกิจกรรมไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และเชื่อม ...

chiangmai-scale-up-asia-2017-cover-e1527495028250

2017: SCALE UP ASIA, CHIANGMAI “CREATIVE VALLEY”

2018: Startup Thailand “Endless Opportunities” พบกับกิจกรรมสตาร์ทอัพบุกภูมิภาค ร่วมค้นหาหุบเขาความคิด ปั้นนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ และฟังหัวข้อการบรรยายพัฒนาธุรกิจอย่างสร้างสรรค์แบบเจาะลึกกิจกรรม CREATIVE VALLEY  ของ ...

startup-thailand-2018-news-a03-2

2018: Startup Thailand “Endless Opportunities”

2018: Startup Thailand “Endless Opportunities” งาน Startup Thailand 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีม Endless Opportunities ถือเป็นการจัดงานสตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่ท ...

scale-up-asia-bkk-2017-cover-1-e1527494898578

2017: SCALE UP ASIA, BANGKOK

2017: SCALE UP ASIA, BANGKOK STARTUP Thailand ได้เริ่มต้นจัดอีเวนต์ ภายใต้ชื่อ Scale Up Asia เพื่อระดมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่และกลุ่มนักลงทุนได้มารวมตัว พบปะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเ ...

Print

Startup Nation : Startup Thailand 2019

Startup Nation : Startup Thailand 2019 การจัดงาน Startup Thailand 2019 ภายใต้แนวคิด Startup Nation ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งพร้อมระบบนิเวศที่แข็งแรงยิ่งขึ้น ในฐานะประเทศไทยให้การสนับสนุนและส่งเ ...

1680X726

SITE 2021

SITE 2021​ ปีนี้เตรียมพบกับ ‘DeepTech’ เทคโนโลยีเชิงลึกที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมประเทศไทย ที่ทุกภาคส่วนกำลังจับตามองNIA เดินหน้าต่อยอดงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2021 หรืองาน ‘SITE 2021’ ภายใต ...

1680X726

GOVERNMENT SUPPORT

GOVERNMENT SUPPORT

Open Innovation

นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เป็นหนึ่งในกลไลการให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และชักนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญทั้งกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ซึ่งเป็นไปตามกลุ่มสาขาเศรษฐกิจดังนี้ ได้แก่ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ สาขาเศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน และสาขาเศรษฐกิจบริการและการแบ่งปัน

Link

Thematic Innovation

โครงการที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรมและการเกษตร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านการแสวงหาโจทย์ปัญหาที่แท้จริงร่วมกันของภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ เพื่อดำเนินโครงการนวัตกรรมต้นแบบสำหรับแก้ปัญหาและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม

Link

MIND CREDIT

กลไกสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม” (Managing Innovation Development Credit) หรือ “MIND CREDIT” เป็นการสนับสนุนรูปแบบใหม่ของสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำหรับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถเข้าถึงและใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาหรือขยายผลธุรกิจนวัตกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้พร้อมในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฐานนวัตกรรมของประเทศ

ผู้ที่ประสงค์จะขอรับทุนภายใต้กลไก MIND CREDIT จะต้องส่งข้อเสนอโครงการต่อสนช. เพื่อพิจารณาอนุมัติ และบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ขอรับทุนจะใช้บริการจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ คัดเลือกและขึ้นทะเบียนโดยสนช. ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษากลไก MIND CREDIT ที่สนช. กำหนด โดยสนช. จะให้การสนับสนุนในลักษณะของเงินให้เปล่า (grant) ในรูปแบบทุนสนับสนุนค่าบริการที่ปรึกษาสูงสุด 1,000,000 บาท/โครงการ และคิดเป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ(มูลค่าโครงการ คือ คำนวณจากประมาณการค่าที่ปรึกษา/บริการตามใบเสนอราคาจากบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นมูลค่าก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม)) ระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ผู้ขอรับทุนทำสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรมกับ สนช.

Link

SPARK

SPARK เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น “Global Accelerator Program” ที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และ เอจีดับเบิลยูกรุ๊ป (AGW Group) กลุ่มนักลงทุนจากประเทศอิสราเอลที่มีประสบการณ์ในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในหลายสาขา เช่น นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงด้านไซเบอร์ นักลงทุนในบริษัทกองทุนร่วมทุน ฯลฯ ซึ่งจะร่วมเป็นวิทยากรและเป็นที่ปรึกษาแบบตัวต่อตัวให้แก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการฝึกอบรม โดยตั้งเป้าพัฒนา Startup ไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับโลก

Link

AG Growth

โครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในระดับนานาชาติ (Global AgTech Acceleration Program) หรือ AGrowth โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้มีความพร้อมและศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สามารถขยายผลธุรกิจในประเทศไทย และเติบโตในตลาดระดับสากลได้ ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศและสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากนานาประเทศได้เข้าถึงระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงจะเป็นตัวเร่งในการสร้างสรรค์สตาร์ทอัพด้านการเกษตรรุ่นใหม่ในประเทศไทยให้มีความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น

Link

SPACE F

โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหาร (SPACE-F) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อยอดการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นให้เจาะจงมากขึ้นในด้านเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech Startup) ตลอดจนเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจสู่ตลาดเอเชีย รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มกลาง (Platform) ที่ช่วยเชื่อมโยงวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารเข้ากับผู้เล่นที่สำคัญในระบบนิเวศ เช่น องค์กรภาครัฐ (Government agency) บริษัทขนาดใหญ่ (Big corporate) นักลงทุน (Investor) และสถาบันการศึกษา (Academic institute) อันจะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น ทั้งในแง่ของปริมาณ (Quantity) ความหลากหลาย (Variety) และคุณภาพ (Quality) ทั้งยังช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย

Link

YOUTH STARTUP FUND

กองทุนยุวสตาร์พอัพ (Youth Startup Fund) เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนให้พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและผลักดันมหาวิทยาลับไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ตามนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การดำเนินกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) จะมีรายละเอียดการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ 1. โครงการ Startup Thailand League เป็นการพัฒนา บ่มเพาะ การประกวดแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจของนักศึกษาระดับประเทศ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย และ 2. โครงการ Pre-seed Funding ซึ่งเป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่อยอดธุรกิจจริง ในรูปแบบเงินอุดหนุนสมทบบางส่วนแบบให้เปล่า (90/10) แก่นิสิต และนักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญาโท และปริญญาเอก และ/หรือเป็นบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี โดยมีเงินทุนสนับสนุนมูลค่าตั้งแต่ 500,000-1,500,000 บาท เพื่อนำไปซื้อบริการด้านการทดสอบจากห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาต้นแบบซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ (Prove of Concept Idea, POC) และเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการพัฒนาต้นแบบ ซึ่งเป็นการให้ทุนเพื่อดำเนินการพัฒนา POC ผ่าน Incubator ที่ได้รับการรับรอง (Certified Incubator) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Link

International Innovation Matching Program for Innovation-Driven Enterprises (IIM – IDE)

โครงการ “International Innovation Matching Program for Innovation-Driven Enterprises (IIM – IDE)” เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ และบริษัท SPHERE8 เพื่อต่อยอดให้องค์กรธุรกิจนวัตกรรมที่สนใจแสวงหาหุ้นส่วนกลยุทธ์กับอิสราเอล โครงการเน้นไปที่การพัฒนาโครงการนวัตกรรมร่วมกันในระยะต้นแบบ (Prototype) โครงการนำร่อง (Pilot Project) ไปจนถึงระยะพร้อมออกสู่ตลาดหรือขยายผลเชิงพาณิชย์ (Commercialization) โดยกิจกรรมในโครงการนี้ดำเนินเป็นภาษาอังกฤษ

Link

Digital Startup Fund

depa-Fund เป็นเงินทุนโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศ โดยมีขอบเขตการให้การสนับสนุนหลากหลากหลายด้าน เช่น ผู้ที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจดิจิทัลเพื่อเติบโตเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Digital Startup) การพัฒนาทักษะหลากหลายระดับเพื่อเป็นบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล (Digital Manpower) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ (Digital Research Development and Innovation) การทำกิจกรรมเพื่อขยายโอกาสการตลาด (Digital Event and Marketing) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้า บริการ และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ (Digital Tranformation) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน (Digital Transformation for Community) หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (Digital Infrastructure) เป็นต้น

Link

Research Gap Fund

Research Gap Fund เป็นกิจกรรมการสนับสนุนเพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐ ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและพร้อมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงการวิจัยต่อยอดผลงานที่มีต้นแบบ หรือมีความพร้อมสำหรับการขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือบริการในระดับอุตสาหกรรม

Link

โครงการเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพด้วย Startup Voucher

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP) ได้จัดทำโครงการเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพด้วย Startup Voucher เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาความคิดและการต่อยอดนวัตกรรมและอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดผลทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมในภูมิภาคในการสร้างพันธมิตรเพื่อการดำเนินงานและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีทุนสนับสนุนสูงสุด 800,000 บาท

Link

UOB Fin Lab

เดอะฟินแล็บ (The FinLab) และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ดำเนินโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค (FinTech) และบริษัทเทคโนโลยีให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้ในยุคดิจิทัลตั้งแต่เริ่มจัดตั้งในปี 2558 เดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) มีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านโมเดลทางธุรกิจโดยการใช้ข้อมูลเชิงลึกในภูมิภาคอาเซียนเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทในโปรแกรมของเราได้วางแผนการขยายตัวทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Link

สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ธนาคารออมสิน

TED Fund ร่วมกับ สนช. และออมสิน ประกาศมาตรการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องแก่ Startup ที่อยู่ระหว่างการรับทุนดำเนินธุรกิจ ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และธนาคารออมสิน ในการออกสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการรับทุนของสนช. และ TED Fund เพื่อเป็นมาตรการบรรเทาสภาวะทางการเงินเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 วงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ประเภทเงินกู้ระยะสั้น โดยกำหนดระยะเวลาเงินกู้ตามสัญญาที่ TED Fund หรือ สนช. ให้ทุน ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปี โดยทบทวนวงเงินทุกปี ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ในปีที่ 1-2 และปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นไปตามประกาศธนาคาร

Link

มาตรการช่วยเหลือ โควิด 19

มาตรการเยียวยาสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือและฟื้นฟูสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ผ่านการสนับสนุนทางด้านการเงิน การลงทุน การตลาด เครือข่าย รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถก้าวต่อไป

โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1) การสนับสนุนด้านเงินทุนให้เปล่าผ่านมีกลไกหลักของสำนักงาน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเบื้องต้นได้สนับสนุนทุนนวัตกรรมไปแล้วกว่า 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินอุดหนุนรวม 39.8 ล้านบาท และยังได้เตรียมงบอุดหนุนแบบให้เปล่าไว้สำหรับช่วงหลังวิกฤตโควิด – 19 อีกกว่า 70 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมทั้งมิติเศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธ.ออมสิน ธ.ไทยพาณิชย์ ฯลฯ เพื่ออนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด 19

2) การสร้างตลาดใหม่และส่งเสริมการเติบโต ด้วยการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างของตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ GPT และ แพลตฟอร์ม “YMID Portal” เป็นต้น ซึ่งในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 นี้ก็ได้สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาดังกล่าวกว่า 12 ราย ได้เข้าไปร่วมทำงานจริงกับเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 9 แห่ง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถขยายโอกาสต่อไปในภาครัฐอื่นได้ นอกจากนี้ NIA ยังเตรียมเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้สตาร์ทอัพมาโปรโมทนวัตกรรมดีๆ ผ่านช่องทางเพจ Startup Thailand ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ สำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและต้องการก้าวสู่ระดับประเทศหรือระดับนานาชาติมากขึ้น NIA ก็มีเครือข่ายกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เครือซีพี ไทยยูเนี่ยน สยามคูโบต้า ช.การช่าง ฯลฯ ที่พร้อมจะร่วมลงทุนและผลักดันให้สตาร์ทอัพนั้นได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป

3) การส่งเสริมความรู้และการพัฒนาสตาร์ทอัพ ซึ่งที่ผ่านมีการจัดหลักสูตรอย่างต่อเนื่องทั้งระดับเยาวชน และสตาร์ทอัพทั่วไป และขณะนี้ได้มีการพัฒนาเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้นผ่านสถาบันวิทยาการนวัตกรรม โดยภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีมากกว่า 10 หลักสูตร และโครงการ Startup Thailand League ที่เน้นไปยังกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจจะเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งมีเข้าร่วมกว่า 2000 ราย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ธนาคาร และเอกชน ได้เริ่มสนับสนุนสตาร์ทอัพและวิสาหกกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาศ เช่น กระทรวงการคลัง NSTDA DEPA ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Innospace เป็นต้น