MANAWORK

MANAWORK ระบบบริหารทีม ที่ช่วยให้โลกการทำงานไร้พรมแดน

MANAWORK ระบบบริหารทีม ที่ช่วยให้โลกการทำงานไร้พรมแดน

วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้ “การทำงานแบบไฮบริด” หรือการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นมาตรฐานใหม่แห่งโลกของการทำงาน แต่หนึ่งในปัญหาที่ทำให้หลายองค์กรยังกังวล คือ จะทำอย่างไรให้การทำงานแบบไฮบริดมีประสิทธิภาพสูงสุด

จากคำถามนี้เอง จึงกลายเป็นที่มาของการพัฒนาระบบช่วยบริหารจัดการทีมให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้อุปสรรค เสมือนนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน

แน่นอนว่า ถ้านึกถึงระบบจัดการงาน หลายคนอาจจะมีคำตอบในใจต่างกัน แต่ถ้าพูดถึงระบบจัดการงานที่พัฒนโดยสตาร์ทอัพคนไทย ต้องมีชื่อของ MANAWORK ซึ่งเริ่มต้นจากการพัฒนาเพื่อใช้ภายในบริษัทก่อนจะขยายไปสู่ลูกค้าของบริษัท และเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการที่สนใจ

กว่าจะเป็น MANAWORK
แบงค์-ธนกฤษ ทาโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอฟฟินเทค จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบ MANAWORK เล่าถึงที่มาของการพัฒนาระบบว่า แอลฟินเทค เป็นบริษัทที่ให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนองค์กรสู Digital Transformation อยู่แล้ว โดยโปรดักท์แรกที่ทำ คือ แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการจับคู่แหล่งเงินทุนต่างๆ ทั้งจากรัฐบาลและธนาคารให้กับผู้ประกอบการ SMEs

นอกจากนี้ ยังพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ตามโจทย์ของลูกค้า ทำให้บริษัทต้องบริหารงานหลายโปรเจกต์ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน จึงได้พัฒนา MANAWORK เพื่อเป็นระบบบริหารจัดการงานภายในองค์กร ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย วางแผนการทำงาน และติดตามการทำงาน ต่อมาก็เริ่มขยายไปใช้กับลูกค้าของบริษัท

“ตอนแรกเรายังไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นว่าจะมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ แต่หลังจากทดลองใช้ระบบไปได้แค่ 3 เดือน ก็เกิดวิกฤติโควิด-19 เลยตัดสินใจนำระบบ MANAWORK ซึ่งได้ฟีดแบ็กกลับมาค่อนข้างดี มาเปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของเราได้ลองใช้ฟรี ซึ่งเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวระบบไปในตัวด้วย”

คัดเลือกฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์การใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน
ธนกฤษ บอกว่า แม้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการงานต่างๆ จะมีตัวเลือกมากมาย แต่ถ้าอยากได้ซอฟต์แวร์ของคนไทยที่ให้บริการด้วยภาษาไทย มีฟีเจอร์ที่คัดสรรมาแล้วว่าจำเป็น กลับมีแค่ MANAWORK

“Pain Point ของการใช้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศที่เราพบ คือ มีฟีเจอร์เยอะมาก จนทำให้ต้องเสียเวลาเรียนรู้เพื่อใช้งาน และส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ด้านไอทีมากนัก ดังนั้นโจทย์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของเราคือ ตั้งใจออกแบบเป็นภาษาไทย พร้อมคัดเฉพาะฟีเจอร์ที่จำเป็น เน้นใช้งานง่าย โดยหลังจากที่เริ่มเปิดให้ทดลองใช้ เราก็คอยเก็บฟีดแบ็กเพื่อนำมาต่อยอด อย่างตอนแรกเราทำเป็นเทมเพลตเดียวใช้ทุกแผนก ตอนหลังก็แยกเป็นแต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายบัญชี ฝ่ายบุคคล ฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานของแต่ละแผนกมากขึ้น”

โควิด-19 เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน
“โควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ในแง่ความท้าทาย ด้วยความที่บริษัทเราอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะฉะนั้น พอเกิดวิกฤติโรคระบาด ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเจอลูกค้าได้ แต่ในแง่ของโอกาส ต้องถือว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เห็นความสำคัญของการมีระบบที่เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ จนทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานของเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด”

ทั้งนี้ ธนกฤติ ยอมรับว่า ช่วงแรกก็กังวลว่า ถ้าวิกฤติคลี่คลาย ระบบการจัดการงานจะยังจำเป็นอยู่ไหม แต่มาถึงตอนนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า ต่อให้วิกฤติจะคลี่คลาย แต่การทำงานแบบไฮบริดก็ยังคงอยู่ และ MANAWORK ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและพนักงานทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจยุคนี้เติบโตเร็วมาก ยกตัวอย่างธุรกิจขายออนไลน์ เพียง 1 ปี ยอดขายอาจจะเติบโตจาก 1 ล้าน เป็น 100 ล้าน ดังนั้นการมีระบบ MANAWORK เข้ามาช่วย ทำให้ธุรกิจคล่องตัวและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป้าหมายในอนาคต
สำหรับเป้าหมายในอนาคต ธนกฤษหวังว่า ภายใน 2 ปีจากนี้ จะสามารถขยายบริการของ MANAWORK ไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อหา Strategic Partner และพัฒนาระบบให้เป็นภาษาอังกฤษ

“จุดเด่นที่ทำให้เรามั่นใจว่า ถ้าโกอินเตอร์แล้วจะสามารถแข่งขันกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่มีในตลาดได้ คือ ฟีเจอร์เป้าหมาย (Goal) ที่ให้องค์กรตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ โดยระบบจะคอยอัพเดตความคืบหน้าให้แบบอัตโนมัติ แทนที่จะต้องให้แต่ละแผนกมา Input ข้อมูลเข้าไป”

แพชชัน คือ พลังที่ทำให้ไม่ท้อ
“ถ้าเปรียบเทียบการทำธุรกิจเหมือนการปีนเขา ผมมองว่าตอนนี้ผมยังไม่ได้เริ่มปีนเลยด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายของผมยังอีกไกล ผมเริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยแพชชันที่อยากจะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และเปิดโอกาสให้มนุษย์เงินเดือนได้มีทางเลือกในการทำงานที่ชอบจากที่ไหนก็ได้ ผมเองเป็นคนเชียงใหม่ ที่ต้องจากบ้านไปทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีโอกาสในด้านอาชีพการงานมากกว่า ผมเลยอยากพัฒนาระบบนี้ ให้ทุกคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพื่อช่วยกระจายคนออกจากเมืองหลวง และทำให้หลายๆ คนได้ทำงานที่รัก โดยได้ใช้ชีวิตในบ้านเกิด”

จากแพชชันที่แน่วแน่ดังกล่าว แม้ว่าบนเส้นทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายและอุปสรรค แต่ธนกฤษไม่เคยท้อหรือคิดจะเลิกล้ม

“ผมอาจจะโชคดีที่ค้นหาตัวเองเจอ และได้ทำในสิ่งที่ชอบ เวลาเกิดปัญหา ผมจะพยายามหาแก่นของปัญหา แล้วดูว่าใครจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง เพราะผมเชื่อว่าเราไม่ใช่คนแรกที่เจอปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นเราอาจจะต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์มากกว่า ยกตัวอย่างอย่างการที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาสนับสนุน นอกจากจะช่วยในแง่เงินทุน ยังช่วยสร้าง Ecosystem สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพในแต่ละจังหวัด ทำให้เรามี Mentor ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาช่วยให้คำแนะนำ ส่งผลให้ธุรกิจเราเติบโตอีกด้วย”

ดูรายละเอียดของ Manawork เพิ่มเติมได้ที่ manawork.com และ Facebook: Manawork

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Fill_In (Sati)

Fill’In ปลดล็อกงานเวชทะเบียนทีแสนยุ่งยาก ให้เป็นเรื่องง่ายๆ

Fill’In ปลดล็อกงานเวชทะเบียนทีแสนยุ่งยาก ให้เป็นเรื่องง่ายๆ

เพราะหน้าที่ของ “หมอ” ในการช่วยชีวิตคนไข้ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การรักษา แต่ “หมอ” ยังสามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบทางการแพทย์ที่ดี เพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งนั่นจะทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น

จากแรงบันดาลใจนี้เอง จุดประกายให้ นายแพทย์รพีพัฒน์ ศรีจันทร์ แพทย์ใช้ทุนชั้นปีที่ 4 ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นกับการพัฒนานวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

นพ.รพีพัฒน์ เริ่มเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ประสบการณ์จากการได้ลงสนามไปทำงานจริงในโรงพยาบาล ทำให้เขาเห็นถึงหลายปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข บวกกับเมื่อเห็นกระแสสตาร์ทอัพในเชียงใหม่เริ่มบูม จึงอยากนำมานวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ และตัดสินใจเข้าร่วมการประกวดสตาร์ทอัพรายการหนึ่ง

“ไอเดียแรกที่ส่งเข้าประกวด คือ ระบบประเมินความเสียงและความเร่งด่วนของคนไข้ที่ต้องมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน เพราะหนึ่งใน Pain Point ของแผนกฉุกเฉินที่ผมเจอ คือ คนไข้บางครั้งไม่รู้ว่าอาการของตัวเองอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินหรือไม่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย บวกกับมองปัญหาผ่านมุมมองของแพทย์เป็นหลัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาโซลูชันและการหาโมเดลธุรกิจมารองรับ ทำให้ไอเดียนี้ไปไม่ถึงฝัน แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นก็ทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดไอเดียใหม่ๆ”

แม้ไอเดียแรกจะล้มเหลว แต่กลับจุดสัญชาตญาณความเป็นสตาร์ทอัพในตัวของนพ.รพีพัฒน์ เขารวมกลุ่มกับทีมงานเพื่อพัฒนาโปรแกรม LECA สำหรับแปลงบทสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ เพื่อลดภาระในการบันทึกเวชระเบียนหรือประวัติการรักษาคนไข้ให้กับแพทย์ เพื่อให้แพทย์มีเวลาไปรักษาคนไข้มากขึ้น

แต่ทำไปทำมา ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีแปลงเสียงที่อาจจะยังไม่แม่นยำ 100% บวกกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ทำให้สุดท้ายนพ.รพีพัฒน์ตัดสินใจพักโปรเจกต์นี้เพื่อไปพัฒนาอีกโซลูชันที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งได้ไปพบ Pain Point ขณะเริ่มนำโปรแกรม LECA ไปทดสอบไอเดียกับโรงพยาบาลต่างๆ

ต่อยอด Pain Point สู่ Health Tech
ปัญหาที่ว่า คือ การที่โรงพยาบาลต่างๆ ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลในแต่ละปีจากการกรอกข้อมูลเวชระเบียนที่ไม่ตรงตามเกณฑ์การเบิกจ่าย

“เวลาที่ผู้ป่วยใช้สิทธิในการรักษาต่างๆ ปกติทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้สารองค่ารักษาไปก่อน แล้วจึงนำข้อมูลการรักษาไปยื่นเบิกจ่าย โดยผู้ที่ทำหน้าที่แปลงประวัติการรักษาต่างๆ ให้เป็นประวัติมาตรฐาน (ICD) เพื่อนำไปเบิกจ่ายตามสิทธิต่างๆ เรียกว่า ผู้ลงรหัส (Medical Coder) แต่ด้วยความที่ปริมาณคนไข้ในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนมากกว่าแพทย์ ทำให้แพทย์อาจไม่มีเวลาบันทึกเวชระเบียนได้ครบถ้วน ส่งผลให้ผู้ลงรหัสซึ่งมีอยู่น้อยนั้นไม่เพียงแค่ต้องรับภาระที่มากขึ้น แต่หากบันทึกข้อมูลผิดพลาดก็อาจจะทำให้โรงพยาบาลสูญเสียรายได้จากการเบิกจ่าย”

จาก Pain Point ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรแกรม Fill’In เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ในการบันทึกข้อมูลให้แม่นยำมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยแปลงและตรวจสอบข้อมูลในการลงรหัสให้ครบถ้วนตามเกณฑ์และรวดเร็วมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และในอนาคตยังสามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลอีกด้วย

“หลังจากเริ่มพัฒนาโปรแกรมเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงนำโปรแกรม Fill’In ไปปลั๊กอินกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจ โดยวางแผนว่าจะขยายผลที่โรงพยาบาลในเชียงใหม่และภาคเหนือก่อนจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพราะฉะนั้น มาถึงวันนี้คงเร็วไปถ้าจะประเมินว่าธุรกิจมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จหรือยัง เพราะภาพความสำเร็จที่วาดไว้ คือ ต้องเห็นประสิทธิภาพของระบบว่าเข้าไปช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้จริง และมีรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุน”

มี passion ใจสู้ ลงมือทำ
ถ้าถามว่า อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ นพ.รพีพัฒน์มุ่งมั่นและไม่ล้มเลิกระหว่างทาง คำตอบคือมี passion ในสิ่งที่ทำและการมีทีมที่ดี

“กำลังใจของเรา มาจากการเสพติดความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เวลาเราเห็นว่าโซลูชันของเรามีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้จริง ทำให้รู้สึกว่ามาถูกทาง บวกกับการมีทีมที่ดี ทำให้มีพลังที่จะเดินไปข้างหน้า”

สิ่งที่อยากบอกสตาร์ทอัพคนอื่นๆ คือ ไอเดียจะดีแค่ไหนก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าไม่เริ่มต้นลงมือทำ ซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุด ที่สำคัญลงมือทำแล้ว ต้องไม่เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป ต้องเผื่อใจให้กับความล้มเหลว พยายามฟังให้เยอะ และทดสอบไอเดียตลอดเวลา เพราะบนเส้นทางของสตาร์ทอัพ ความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ตลอด อยู่ที่ว่าจะก้าวออกมาจากความล้มเหลวนั้นได้เร็วแค่ไหน

“แม้การลงมือทำยากที่สุด แต่ไม่ต้องกลัวว่าลงมือทำแล้วจะไม่มีคนมาช่วยหรือขาดเงินทุน เพราะคนไทยที่มีศักยภาพมีอยู่เยอะ หรืออย่างเรื่องเงินทุน ก็มีหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุน อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่ให้โอกาสเราและให้ความช่วยเหลือในหลายเรื่อง ทั้งเงินทุน คอนเนกชัน และช่วยสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างชื่อเสียงให้กับเรามาตลอด จนทำให้มาถึงจุดนี้ได้” นพ.รพีพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://sati.co.th/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Facebook Caption
รู้จัก Fill’In Health Tech ฝีมือคนไทย ที่ช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ด้วยระบบบันทึกเวชระเบียนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องเสียเงินมหาศาลจากการเบิกจ่ายไม่ตรงตามเกณฑ์

UniFAHS

ความปลอดภัยในอาหารและยา กับเทคโนโลยีป้องกันแบคทีเรียดื้อยาจาก UniFAHS

ความปลอดภัยในอาหารและยา กับเทคโนโลยีป้องกันแบคทีเรียดื้อยาจาก UniFAHS

ในปัจจุบัน แม้ว่ากระบวนการผลิตอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคจะมีกระบวนการและกรรมวิธีที่ทันสมัย ปลอดภัย และได้มาตรฐานที่ดีกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างก้าวกระโดด แต่พัฒนาการของเชื้อแบคทีเรียก็ไม่ได้หยุดนิ่ง และยังเป็นภัยเงียบที่พร้อมจะสร้างอันตรายด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภคได้อย่างร้ายแรง มีการประมาณการว่า ภายในปี 2025 อัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุของเชื้อแบคทีเรียดื้อยา จะมาเป็นอันดับหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่เกินจริงจนเกินไปนัก

แต่ด้วยความชำนาญ พัฒนา และต่อยอดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้คุณชลิตา วงศ์ภักดี และ ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ สองผู้ก่อตั้งแห่ง UniFAHS ได้นำองค์ความรู้ที่มีมาประยุกต์จนก่อเกิดเป็น ‘สารฆ่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ ที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคที่มากยิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพและสุขอนามัยที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

Phage Biotechnology: เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยในอาหารและยา

ในศาสตร์แห่ง Biotechnology สาขาปลีกย่อยนั้น สาขา ‘Phage’ เป็นสิ่งที่จะทวีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคตภายภาคหน้า ท่ามกลางการผลิตที่มีกระบวนการซับซ้อนยิ่งขึ้น และความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารปนเปื้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการก่อตั้ง UniFAHS ของคุณชลิตา และ ดร.กิติญา

‘จุดเริ่มต้นของ UniFAHS นั้น มาจากการต่อยอดผลงานวิจัยในระดับปริญญาเอก ซึ่งได้ทำวิจัยในส่วนของ Bacteriophage หรือตัวกินแบคทีเรียตามธรรมชาติ ซึ่งมีบทบาทในการฆ่าเชื้อปนเปื้อนและเชื้อดื้อยา และเราได้โฟกัสไปที่การใช้งานในส่วนของ Food Supply Chain เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำอย่างการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงโรงงานแปรรูปอาหาร และผลิตภัณฑ์สำเร็จอย่างอาหารสำหรับผู้บริโภค’ คุณชลิตากล่าวถึงที่มาที่ไป

แน่นอนว่ากระบวนการฆ่าเชื้อหรือ Bacteriophage นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันแค่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง แต่ครอบคลุมในทุกกระบวนการ เพราะการปนเปื้อนสามารถเกิดขึ้นจากจุดใด เวลาใดก็ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ UniFAHS เองนั้น ก็มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะใช้งานได้กับทุกกระบวนการดังที่กล่าวมา

COVID-19 และความเข้มงวดด้านความปลอดภัยทางด้านอาหารที่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

บริษัท UniFAHS ก่อตั้งในปี 2020 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่สร้างความระส่ำระสายให้กับโลก และแน่นอน ความปลอดภัยทางด้านอาหารและยาคือสิ่งที่ได้รับความสำคัญมาเป็นลำดับต้นๆ และเป็นจังหวะที่บริษัทเองได้เติบโตขึ้น

‘ในช่วง COVID-19 อาจจะเรียกว่าเป็นโอกาสของเราก็ว่าได้ เพราะผลิตภัณฑ์ของเรานั้นจะใช้สำหรับงานด้านสุขภาพและอาหารเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญซึ่งเราใช้เทคโนโลยีลดความเสี่ยง ลดแบคทีเรียติดเชื้อให้ลดน้อยลง’ คุณชลิตากล่าว

แต่แน่นอน การดำเนินงานใช่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร้อุปสรรค เพราะภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีความติดขัดก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยปัจจัยที่หลากหลายกันไป แต่ทาง UniFAHS ก็ได้จัดเตรียมแนวทางที่พร้อมช่วยเหลือเอาไว้อย่างทันท่วงที

การขยายตัว และความท้าทายในก้าวต่อไปของ UniFAHS

มาถึงวันนี้ UniFAHS สามารถผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ได้ และสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตเนื้อไก่ส่งออกได้ถึง 20-30% ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สดใสและเป็นไปในทิศทางบวก แต่สำหรับก้าวถัดไปจะเป็นเช่นใด

‘เป้าหมายของเราอาจจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องขึ้นไป เพื่อให้ครอบคลุมกับอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเพียงพอ แต่ทั้งนี้ ทาง UniFAHS ก็ยังมีพาร์ตเนอร์ที่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี ซึ่งเป็น Hub ชุดแรกของการส่งออก โดยการขยายตัวก็ต้องเพียงพอ เพื่อที่จะส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวเหล่านี้ไปพร้อมกันด้วย’ ดร.กิติญากล่าวถึงทิศทางถัดไป

และเมื่อถามลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้งานจะได้จาก UniFAHS ในอนาคต โดยเทคโนโลยี Phage Biotechnology นั้น ดร.กิติญากล่าวเสริมได้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง

‘ส่วนตัวมองว่า เรานำปัญหาของลูกค้ามาเป็นโจทย์เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างยั่งยืน ให้เกิดการใช้งาน มีประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าลูกค้าจะมีความต้องการอย่างไรก็ตาม เราต้องสามารถปรับเปลี่ยน ต้องตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อที่ทางผู้ประกอบการจะได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยให้สินค้ามีความพรีเมียมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ อาจจะเรียกได้ว่าการ ‘ปรับเปลี่ยนประสบการณ์และการใช้งาน’ ให้เหมาะสมตามแต่ละผู้ประกอบการเลยก็ว่าได้’

และเมื่อถามถึงแนวทางคิดในการประกอบธุรกิจของทั้งสองท่านที่นำพา UniFAHS มาจนถึงปัจจุบัน คุณชลิตาได้กล่าวสรุปเอาไว้ดังนี้

‘ในแนวคิดหลักนั้น เราใช้คำว่า ‘ความท้าทายคือโอกาส’ และถ้าถามว่าความยากง่ายการทำธุรกิจ เราวัดจากขนาดของปัญหาในตลาด ถ้าขนาดของปัญหามีอยู่เยอะ แต่ยังไม่มีแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์อะไรที่สามารถนำมาตอบโจทย์ได้อย่างแม่นยำ และถ้าเราสามารถตอบสนองได้ ก็ถือว่าสามารถเข้าไปทำตลาดได้ไม่ยาก แต่ถ้าความยากเหล่านั้น ถ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ก็อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้ ต่อยอดไปสู่ความเชื่อมั่น และการใช้งาน แต่โดยสรุปคือ พิจารณาจากขนาดของปัญหา และสองคือ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าที่ลูกค้าลงทุนให้ได้มากที่สุด’ คุณชลิตากล่าวปิดท้าย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ UniFAHS ได้ที่: http://www.unifahs.com

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook
เมื่อความปลอดภัยทางด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์บริโภคคือความสำคัญลำดับต้น และ ‘เชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ คือภัยเงียบร้ายที่จะกลายเป็นปัญหาในภายภาคหน้า เทคโนโลยี ‘Phage Biotechnology’ จาก UniFAHS จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 
Biomatlink

Biomatlink ความต่อเนื่องของผลิตผลการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

Biomatlink ความต่อเนื่องของผลิตผลการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันดีว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ นี้มีความสำคัญอย่างไรกับยุคสมัยปัจจุบัน จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตอาหารต้องมีความต่อเนื่อง และมีปริมาณที่มากขึ้น รวดเร็วขึ้น แม่นยำมากขึ้น ยิ่งโลกประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และภัยสงครามยูเครน ซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรหยุดชะงัก การผลิตภายในประเทศยิ่งต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างเป็นกระบวนการที่ไม่ให้มีผิดพลาด และมีเพียง ‘เทคโนโลยี’ เท่านั้นที่จะสามารถเข้ามาอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้ อันเป็นที่มาซึ่งทำให้ ดร.ธนิกา จิตนะพันธ์ นักวิทยาศาสตร์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยค้นคว้า เพื่อหาขั้นตอนที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ก่อนจะนำไปสู่แพลตฟอร์ม ‘Biomatlink’ ระบบ Supply Chain ครบวงจร ที่จะเข้ามาช่วยให้การผลิตเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดติดขัด และคงความมั่นคงทางอาหารเอาไว้ได้

จากการวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างละเอียดสู่แพลตฟอร์มเพื่อการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ การเพาะปลูกคือหลักฐานแรกแห่งอารยธรรมมนุษยชาติ การรู้ฤดูกาลเก็บเกี่ยว การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ทำให้มนุษยชาติสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในปัจจุบันเพียงแค่รู้ฤดูกาลอาจจะไม่เพียงพอ เมื่อความต้องการมีปริมาณที่สูงขึ้น การค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้ได้ ‘ผลลัพธ์’ ที่มากขึ้นและ ‘แน่นอน’ คืออีกระดับขั้นของวิทยาศาสตร์การเกษตรที่ ดร.ธนิกาได้ทำการศึกษา จนนำมาสู่ Biomatlink

‘การที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เริ่มต้นทดสอบเพาะปลูกและเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลสถิติ การให้ปุ๋ยแบบต่างๆ อะไรที่สามารถควบคุมได้หรือไม่ได้ และจากจุดนี้พอได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับพืชชนิดต่างๆ ก็เริ่มสร้างแพลตฟอร์ม โดยอาศัยเทคโนโลยี Internet of Things เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้แรงงานคน เก็บเป็นข้อมูลทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพื่อคำนวณและวิเคราะห์ ประเมินการเติบโตล่วงหน้า รวมไปถึงวันเวลาเก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งยังสามารถเชิญนักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ มาช่วยในด้านต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น’ ดร.ธนิกากล่าวอธิบาย

ไม่ใช่เรื่องของโชคช่วย ไม่ใช่เรื่องของดินฟ้าอากาศเป็นใจ แต่เป็นการคำนวณจากค่าสถิติที่ผ่านการทดสอบเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษ ทั้งรูปแบบการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย ชนิดพันธุ์พืช ที่ ดร.ธนิกากล่าวว่า “สามารถคำนวณปริมาณผลิตผลและกะเกณฑ์ ‘รายได้’ ของเกษตรกรที่จะได้ถึง 60-70% เลยทีเดียว”

พึ่งพาอาศัย เติบโตไปพร้อมกัน

เมื่อได้รูปแบบและแนวทางที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ‘การประยุกต์ใช้’ ในรูปแบบของโมเดลธุรกิจที่ ดร.ธนิกาได้กล่าวว่า เป็นไปในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและรับซื้อจากไร่เกษตรกร เพื่อนำส่งโรงงานในปริมาณที่แน่นอนของแต่ละการเก็บเกี่ยว

‘จะเป็นในแบบความร่วมมือกันค่ะ อย่างผลผลิตที่เรารับซื้อนั้นเกิดจากการ Matching กับเกษตรกร ตกตันละ 50-100 บาท แล้วแต่ความใกล้ไกลจากโรงงาน ค่าขนส่งเราฟรี รวมถึงค่า Matching กับโดรนท้องถิ่น ไร่ละ 50 บาท ซึ่งพอรวมจำนวนไร่เข้าไปเยอะขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลง ส่วนที่ช่วยให้เกษตรกรประหยัดได้จะถูกนำมาบริหารจัดการเป็นงบในการวิจัย ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มปุ๋ย เพิ่มค่าฮาร์ดแวร์ที่ใช้ ก็จะช่วยให้การบริการสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น ทุกอย่างจะดำเนินการผ่านข้อมูลที่วิเคราะห์มาแล้วทั้งสิ้น’ ดร.ธนิกากล่าวเสริม

แน่นอนว่าการพัฒนาที่ได้รับกลับมาจะยิ่งทำให้ผลิตผลต่อไร่นั้นดีขึ้น มากขึ้น และก่อให้เกิดเป็นรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นไปในทางเดียวกัน เป็นจุดที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน

COVID-19 กับการขยับขยาย “สองจังหวะ”

ภายใต้สภาวการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างความกังวลให้กับหลายภาคธุรกิจ สำหรับ Biomatlink นั้นอาศัยจังหวะนี้ เพื่อเสริมสร้างและต่อยอดความช่วยเหลือภาคเกษตรกรให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

‘ในขณะที่ทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดความขาดแคลนทางด้านอาหาร ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์คาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบสามเท่า และส่งผลต่อการผลิตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง จากเดิม 2 บาท/กก ปัจจุบันราคาพุ่งไปถึง 4 บาท/กก นั่นหมายความว่าเป็นโอกาสดี’ ดร.ธนิกากล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ไม่เพียงแค่ราคาของผลิตผลที่สูงขึ้น Biomatlink ยังได้ใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาในแง่ ‘คุณภาพ’ ของแพลตฟอร์มให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง

‘ก็เป็นช่วงนั้นเองที่ได้เปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ให้การตรวจรับอยู่ในระดับ 1 คันไม่เกิน 15 นาที ทั้งการใช้ RFID, กล้อง AI ตรวจวัดแบบ Facial Recognition, เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์แป้งอัตโนมัติ ทั้งหมดเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยสรุป วิกฤติ COVID-19 เป็นตัวช่วยเร่งความต้องการสินค้า และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่ดีขึ้น จะมองว่าเป็นการขยับขยายในเชิงคุณภาพก็ว่าได้’

ต่อยอดความร่วมมือ สู่ตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่า

Biomatlink ในวันนี้ได้ขยายความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยได้รับความช่วยเหลือทั้งจากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ในด้านเงินทุนและโอกาสด้านการพบปะกับคู่ค้าใหม่ และทาง SCG ในการสร้างโรงรับซื้ออัจฉริยะพร้อมประกอบเสร็จ ที่มีเป้าหมายจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็น 3,200 จุดทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่า 9 ล้านไร่ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงโอกาสทางธุรกิจในต่างแดนที่เข้ามา ซึ่งเป็นประตูไปสู่ตลาดสากล

‘เป็นจังหวะที่เหมาะมากๆ เพราะเรากำลังจะทำข้อตกลงร่วมกับประเทศการ์นา ในความช่วยเหลือของธนาคารกรุงไทย เราก็ได้ไปเสนอระบบของ Biomatlink ซึ่งทางผู้ดำเนินธุรกิจด้านอาหารของการ์นาก็ต้องการให้นำระบบดังกล่าวมาใช้กับการคัดแยกมันสำปะหลังของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่จะเข้าไปสู่กลุ่มประเทศที่มีมันสำปะหลังทั่วโลก และได้ทำความตกลงความร่วมมือกับ SCG และ JWD ในแง่การขนส่งทั่วประเทศอีกด้วย’

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/biomatlink/ และ https://biomatlink.com/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook

เมื่อความมั่นคงทางอาหารเรียกร้องให้กระบวนการผลิตมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และปริมาณที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เทคโนโลยีที่ครบวงจรเท่านั้นที่จะตอบสนองความต้องการนี้ได้ และเป็น ‘Biomatlink’ ที่เข้ามาเติมเต็มในจุดที่ขาดหายไปเหล่านี้

Gensurv Robotics

Gensurv Robotics ผู้ผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ฝีมือคนไทยที่ฝันอยากยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย

Gensurv Robotics ผู้ผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ฝีมือคนไทยที่ฝันอยากยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย

Gensurv Robotics
ผู้ผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ฝีมือคนไทยที่ฝันอยากยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย

ในวันที่หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน หรือแม้แต่เวลาไปใช้บริการที่ร้านอาหาร ยังไม่นับถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการนำหุ่นยนต์เคลื่อนที่มาทดแทนแรงงานคน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อก้าวไปให้ทันกับโลกธุรกิจใบเดิมที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

จากความสนใจสู่ Passion ในการปั้นธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ดูไกลตัวและยังเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง จากจุดนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ เปิ้ล-วีรมน ปุรผาติ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Gensurv Robotics รวมตัวกับกลุ่มวิศวกรที่ชื่นชอบและสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่ เพื่อพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว

“เราเริ่มต้นจากการพัฒนาเรือหุ่นยนต์อัตโนมัติบนผิวน้ำ และเรือดำน้ำที่ใช้ในการสำรวจ เพื่อลดความเสี่ยง ระยะเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ ต่อมาเราตั้งใจขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น จึงหันมาวิจัยและพัฒนาโซลูชันหุ่นยนต์ขนส่งที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจโลจิสติกส์”

นำ Pain Point มาต่อยอดเป็นโซลูชันที่ตรงใจลูกค้า

วีรมน เล่าว่า หนึ่งใน Pain Point ของลูกค้ากลุ่มนี้คือ ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน บวกกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ต้องทำงานในโรงงานแทบจะ 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เข้ามาทดแทนงานในส่วนที่ต้องการความแม่นยำ รวดเร็ว และสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง น่าจะตอบโจทย์กว่า

ความท้าทายของการพัฒนา Solution ที่คนส่วนใหญ่ (ยัง) ไม่รู้จัก

อย่างไรก็ตาม แม้ไอเดียตั้งต้นจะมาถูกทาง แต่ที่ผ่านมา ต้องบอกว่า Solution การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ทั้งในไทยและในระดับโลกยังไม่ได้แพร่หลาย หรือมีผู้ที่เชี่ยวชาญมากนัก ทำให้นอกจากต้นทุนจะสูงแล้ว ยังไม่มีตัวอย่างการนำมาใช้งานจริงให้เห็นมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองไม่เห็นภาพว่าการมีหุ่นยนต์เคลื่อนที่มาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจจะส่งผลดีอย่างไร จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับลูกค้า

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่เข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจและพนักงานได้อย่างไร วีรมน ยกตัวอย่างการทำงานของ “พลายเอจีวี” หรือรถ Forklift แบบไร้คนขับ ที่นอกจากจะมีการติดตั้งระบบ Navigator แบบอัตโนมัติ ใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวนำทาง ซึ่งสามารถกำหนดได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะทำงานบนพื้น ชั้นเก็บสูง หรือสายพานก็ทำงานได้หลายรูปแบบ

และยังมีโปรแกรม Fleet Management ที่ช่วยให้รถเลือกเส้นทางที่สั้นและประหยัดเวลาที่สุด ทั้งยังสามารถทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลการส่งกับระบบคลังและการผลิต รับ-ส่ง เก็บข้อมูลการทำงานและสถานะสินค้าได้ในเวลาเดียวกันแบบเรียลไทม์ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

จากก้าวแรกถึงโควิด-19 บทพิสูจน์ของความมุ่งมั่น

มาถึงวันนี้ วีรมนอดภูมิใจไม่ได้ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและความท้าทายจนพาธุรกิจเข้าใกล้ความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยการที่มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความไว้วางใจ และมีลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำ ล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่าธุรกิจมาถูกทางและตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด สามารถแก้ Pain Point ของลูกค้าได้จริง

“อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจเราเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ลูกค้าตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่มากขึ้น ยิ่งช่วงโควิด-19 ที่คนงานต้องกักตัวหรือเข้าพื้นที่ไม่ได้ ขณะที่โลกธุรกิจไม่ได้หยุดนิ่ง ต้องเติบโตต่อไป ดังนั้นพอเราเห็นดีมานด์ที่เข้ามาแล้ว ก้าวต่อไปของเรา คือ ทำให้หุ่นยนต์ขนส่งสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะได้สามารถเข้ามาเอื้อประโยชน์และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง”

เคล็ด (ไม่) ลับ สู่เส้นทางความสำเร็จ

สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่า อะไรคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ Gensurv Robotics ประสบความสำเร็จ วีรมนบอกว่า มาจาก Passion ที่เชื่อมั่นในคุณค่าและความจำเป็นของหุ่นยนต์เคลื่อนที่ว่าจะสามารถตอบโจทย์โลกธุรกิจในอนาคต แม้ระหว่างทางจะเจอกับปัญหาและความล้มเหลวจนมีท้อบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะถอย ให้กำลังใจทีมงานด้วยการไม่มองข้ามความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง

เพราะต่อให้จะเจอความผิดพลาด อย่างน้อยรางวัลที่ได้กลับมาก็คือบทเรียน อีกแรงผลักดันสำคัญ คือ การได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทั้งเรื่องเงินทุน กิจกรรมการประชาสัมพันธ์บริษัทผ่านสื่อต่างๆ การสร้างเครือข่ายของสตาร์ทอัพด้วยกัน รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือกับคู่ค้า ทำให้สามารถต่อยอดโมเดลการทำธุรกิจได้สมบูรณ์มากขึ้น

อดทน-คิดให้รอบด้าน-พร้อมปรับตัว สูตรสำเร็จของสตาร์ทอัพ

“สิ่งที่อยากฝากถึงสตาร์ทอัพ คือ ชีวิตสตาร์ทอัพเป็นอาชีพที่มีข้อเรียกร้องสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ก็เป็นเวทีที่ดีสำหรับการพัฒนาตัวเอง สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความอดทน ฝึกวิธีคิดให้รอบด้าน พร้อมปรับตัวและรับมือกับความล้มเหลวและปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาตลอดเวลา”

ดูรายละเอียด Gensurv Robotics เพิ่มเติมที่:
https://www.gensurv.com/TH/home.html
และ https://www.facebook.com/gensurv

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook

รู้จัก Gensurv Robotics ผู้ผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่ของคนไทย ที่เชื่อว่าวันหนึ่งหุ่นยนต์เคลื่อนที่จะเหมือนกับรถยนต์ ที่เมื่อ 100 ปีที่แล้วไม่มีใครเชื่อว่าวันหนึ่งจะได้เห็นรถยนต์วิ่งอยู่เต็มท้องถนน แต่วันนี้เกิดขึ้นจริง

ไปหาคำตอบว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ Gensurv Robotics เชื่อเช่นนี้ และหุ่นยนต์เคลื่อนที่จะพลิกโฉมโลกธุรกิจอย่างไร?

Pro-toys

PRO-TOYS สตาร์ทอัพคนไทยที่ตั้งใจพลิกโฉมการถ่ายภาพด้วยนวัตกรรม

Pro-toys สตาร์ทอัพคนไทยที่ตั้งใจพลิกโฉมการถ่ายภาพด้วยนวัตกรรม

เบื้องหลังการทำคอนเทนต์ที่มีการใช้ Special Effect นั้นไม่ได้อาศัยแค่การถ่ายทำด้วยกล้องเทพ ๆ หรือใช้เทคนิคในการตัดต่อแบบมือโปร ซึ่งจริง ๆ แล้วเบื้องหลังคอนเทนต์ดังกล่าวต้องอาศัยนวัตกรรมเข้าช่วยสร้างมุมมองและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ภาพถ่าย

ในอดีตคนไทยต้องอาศัยนวัตกรรมเหล่านี้จากโลกตะวันตก แต่จากนี้ คนไทยจะสามารถใช้นวัตกรรมที่พัฒนาโดยดิจิทัล เทค สตาร์อัพคนไทยอย่าง PRO-toys ที่เชี่ยวชาญในนวัตกรรม Special Effect Filming ด้วย Multi-Camera เพื่อสร้างสรรค์เป็น Special Content ในแบบ One Stop Service ที่รวมนวัตกรรมทั้ง 3D, Augmented Reality, Virtual Reality และ Artificial Intelligence

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ PRO-toys สามารถพัฒนานวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครได้สำเร็จ
หาคำตอบจากบทสัมภาษณ์นี้

ต่อยอด Pain Point สู่ผู้สร้างนวัตกรรม
บงการ พยัฆวิเชียร ในฐานะ Co-Founder ของ PRO-toys
เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งธุรกิจว่า จากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเอเจนซี่และโปรดักชันเฮ้าส์มากว่า 20 ปี ทำให้มีความเข้าใจในการสร้างคอนเทนต์ และเห็น Pain Point ในธุรกิจว่า เวลาจะสร้างคอนเทนต์ที่ใช้ Special Effect อย่างระบบ Bullet Time (เทคนิคที่ใช้ลดความเร็วของเวลาลง แต่ภาพที่ถ่ายทอดออกมาจากมุมกล้องจะมีความเร็วเท่าเดิม ซึ่งนำมาใช้กับภาพยนตร์แนวแอ็คชัน) ยังคงต้องอาศัยนวัตกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโจทย์ที่ต้องการ เลยเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียในการพัฒนา นวัตกรรม Multi-Camera เพื่อการสร้างสรรค์ Special Effect ให้กับอุตสาหกรรมผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา และอีเวนต์ โดยพัฒนาในรูปแบบ Embedded Technology ครบวงจรทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

“ตอนที่ทำ R&D ยังไม่ได้เปิดบริษัท Pro-toys จนปี 2016 ก็มองไปถึงการ Scale Up ธุรกิจเลยแตกออกมาเป็นอีกบริษัท พร้อมกับต่อยอดไปสู่บริการอื่น ๆ จนตอนนี้มีมากถึง 23 บริการ อาทิ PhotoSFX นวัตกรรมควบคุมและสร้างแบบหลายกล้อง หรือ Bullet Time (Time Slice) ความแม่นยำสูง เพื่อสร้างภาพเอฟเฟ็ก 3 มิติ คุณภาพสูง เผยทุกช่วงองศาที่ตื่นตาตื่นใจแบบเรียลไทม์, นวัตกรรม Photogrammetry Studio เปลี่ยนจากวัตถุและคนในโลกจริง แปลงสู่โลกดิจิทัลในรูปแบบของ 3 มิติ, Virtual 360 เป็น ONE STOP SERVICE เพื่อการสร้างสรรค์ Virtual Reality Content โดยนวัตกรรมคัดสรร ที่รับกับยุคสมัย ทั้ง VR, AR และ AI ไปจนถึง AI Virtual Influencer

เดินสายประกวด ออกงานแฟร์ ปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก
แม้จะตั้งต้นธุรกิจจาก Pain Point และการมองเห็นโอกาสจากดีมานด์มหาศาล แต่บงการบอกว่า ความท้าทายหลัก ๆ ในช่วงเริ่มต้นคงหนีไม่พ้นการสร้างการยอมรับจากลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ

“อย่างที่บอกว่าที่ผ่านมา นวัตกรรมเหล่านี้จะมาจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์บริบทคนไทย หรือ ตลาดอาเซียน แต่พอเราพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาจนสำเร็จ ลูกค้าที่มีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติก็อาจจะยังไม่มั่นใจ ช่วงแรก ๆ เลยต้องโฟกัสไปที่การสร้างแบรนด์และความน่าเชื่อถือด้วยการเดินสายออกบูธ ออกโรดโชว์ Pitching กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนวันนี้ได้รับรางวัลนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 16 รางวัล”

ท้าท้ายที่ผ่านมา Pro-toys ไม่เคยหยุดเรียนรู้และพัฒนา เพื่อสร้างรอยเท้าเป็นของตนเอง หนึ่งในผลงานที่บงการบอกเล่าอย่างภาคภูมิใจ คือ “Selfie eXtreme” นวัตกรรมทางด้านการถ่ายภาพแบบเซลฟี่ ที่สามารถขยายจนเห็นภาพความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ เพียงแค่สแกน QR CODE จากนั้นก็กดรีโมตชัตเตอร์สั่งการผ่านระบบของ PRO-toys ซึ่งอยู่ที่แหล่งท่องเที่ยว หลังถ่ายเสร็จภาพจะถูกส่งเข้ามือถือ แล้วภาพจะแชร์ไปยังโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวของไทยอย่างดี ทำให้สามารถได้ภาพถ่ายเพื่อบันทึกความทรงจำในมุมมองที่ไม่เหมือนใคร

“ตอนนั้นนอกจากจะพัฒนานวัตกรรมแล้ว ยังพัฒนาโมเดลธุรกิจในรูปแบบ แชร์รายได้ (Profit Sharing) กับพาร์ตเนอร์ อาทิ ธีมปาร์คหรือสวนสนุกต่าง ๆ เช่น ไตรภมิ… มหัศจรรย์สามโลก ธีมปาร์ค 3D ที่ภูเก็ต, พิพิธภัณฑ์ ริบลีส์ เชื่อหรือไม่!, Parody Art Museum เพื่อสร้างมิติใหม่และสีสันในการถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยวของไทย กระทั่งเจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้แผนของการที่จะต่อยอดโมเดลธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงเวียดนามและพม่าต้องสะดุด”

โควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวขนานใหญ่
ในขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย Pro-toys ก็เจอกับวิกฤติ โควิด-19 ที่กระทบธุรกิจอย่างมาก ทำให้ต้องปรับตัวขนานใหญ่ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการหันมาเจาะตลาดออนไลน์ โดยยังอยู่บนแกนหลักของธุรกิจที่เน้นนำเสนอประสบการณ์ด้วยภาพแบบพิเศษ นำเทคโนโลยีที่มีมาต่อยอดการจัด Virtual ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การช็อปปิ้ง การท่องเที่ยว ที่ให้ประสบการณ์ที่น่าสนใจและล้ำลึกกว่า พร้อมกันนี้ยังมีการรุกตลาด Virtual Influencer

อย่างไรก็ตาม พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย บงการให้มุมมองความเห็นว่า “ธุรกิจเหมือนได้กลับมาอีกครั้ง โดย Pro-toys มีแผนจะปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ โควิด-19 โดยหันมาโฟกัสธุรกิจในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่าบริการ สำหรับในปี 2023 มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ OneX Kiosk ระบบโฟโต้บูธในรูปแบบ “พรีเมียมคีออส” ดีไซน์ Modern White Minimal ใช้พื้นที่น้อย แต่ช่วยสร้างสีสัน ให้ความสนุกที่แตกต่างในทุกงานรื่นเริง มาพร้อมนวัตกรรม “PRIVATE QR สแกนดูได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมถึงดาวน์โหลดในแบบ PHOTO GALLERY ส่วนตัว ตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม, ห้องอาหาร และร้านกาแฟรุ่นใหม่ แหล่งท่องเที่ยว และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มองหาช่องทางสร้างรายได้ มีหลากหลายโมเดลธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ซื้อ, เช่า, แฟรนไชส์, แชร์รายได้”

ปักหมุด ขยายโซลูชันไปต่างประเทศ
และเมื่อมาถึงวันนี้ หากจะมองว่า ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน บงการให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่าวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยน จนเราต้องนำมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ทุกวันนี้เลยไม่ได้มองว่าประสบความสำเร็จ แต่กลับคิดว่าทำให้มองเห็นโอกาสในการเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าโซลูชันของเราตอบโจทย์คนไทย โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ช่วยต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยว ในอนาคตก็น่าจะขยายไปสูตลาดโลกได้”

สำหรับแรงผลักดันที่ทำให้ Pro-toys มาถึงวันนี้ บงการบอกว่า “มาจาก 2 ปัจจัยหลัก หนึ่ง คือ ความเชื่อที่แน่วแน่ว่า คนไทยมีศักยภาพที่จะสร้างและส่งออกคอนเทนต์ที่มีคุณภาพได้ สองคือ สนุกกับสิ่งที่ทำ จนรู้สึกท้าทายในทุกวัน”

หัวใจสำคัญของสตาร์ทอัพ คือ Mindset นักสู้
สิ่งที่อยากจะบอกกับสตาร์ทอัพ คือ โจทย์ในการทำธุรกิจวันนี้ยากกว่าเดิมแน่นอน การที่จะยืนหยัดอยู่ได้ต้องอาศัยมายด์เซ็ทแบบนักสู้ และไม่หยุดที่จะเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกวัน ที่สำคัญอย่าติดกรอบของการเป็นสตาร์ทอัพ ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนของนักลงทุน แต่ให้มองว่าสตาร์ทอัพก็คือหนึ่งในรูปแบบของธุรกิจ ที่สุดท้ายแล้วต้องสามารถหารายได้เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ

“นอกจากจะมี Mindset ที่ใช่แล้ว การได้รับการสนับสนุนก็สำคัญ อย่าง Pro-toys เองมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งเริ่มต้น ประเดิมด้วยการคว้ารางวัลอันดับที่ 2 จากการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ หลังจากนั้นก็ได้ไปร่วมโครงการต่าง ๆ ของ NIA ที่ช่วยทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์ดิ้ง การประชาสัมพันธ์ พาไปหาตลาดใหม่ ๆ ที่ทำให้ได้ Scale Up ช่วยให้ไปถึงเป้าหมายของธุรกิจได้เร็วขึ้น”

ดูรายละเอียด Pro-toys เพิ่มเติม: Protoys Online และ Facebook

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook
เบื้องหลังแนวคิด PRO-toys ดิจิทัล เทค สตาร์ทอัพคนไทย ซึ่งเชี่ยวชาญใน Special Effect Filming ด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทย ที่พร้อมจะสร้างชื่อในเวทีโลก

Globish

GLOBISH แพลตฟอร์มที่มอบโอกาสให้ทุกคนที่ต้องการพัฒนาตัวเอง

GLOBISH แพลตฟอร์มที่มอบโอกาสให้ทุกคนที่ต้องการพัฒนาตัวเอง

เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กก็จริง แต่สุดท้ายเมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน หลายคนก็ยังติดปัญหาไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดังใจ

จุ๊ย – ชื่นชีวัน วงษ์เสรี Co-Founder GLOBISH สถาบันสอนภาษารูปแบบออนไลน์อันดับต้น ๆ ของไทย ในฐานะ EdTech Startup ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยีให้เติบโตอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 9 ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเช่นนี้ เธอและผู้ร่วมก่อตั้งจึงอยากสร้างประตูแห่งโอกาสเพื่อแก้ Pain Point ให้คนไทย

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เส้นทางของ GLOBISH ล้มลุกคลุกคลานไม่เบา ซึ่ง 2 ปีแรกที่จับทางไม่ถูก ธุรกิจก็เกือบเจ๊ง พอทุกอย่างเริ่มจะไปได้สวย ก็มาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เหมือนจะเป็นโอกาสให้กับธุรกิจ แต่ก็ต้องเผชิญกับสารพัดความท้าทาย อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ GLOBISH ข้ามผ่านอุปสรรคมานับครั้งไม่ถ้วน และก้าวต่อไปของ GLOBISH คืออะไร ไปหาคำตอบพร้อมกัน

จากธุรกิจเพื่อสังคม สู่ “EdTech Startup”
“ช่วงเริ่มต้น GLOBISH ก็ยังไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นสตาร์ทอัพ แต่มองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ช่วง 2 ปีแรก จุ๊ย และ Co-Founder อีกคน ได้ทุนจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ต้องการจะสร้างโอกาสการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้คนไทย เลยนำไอเดียการเรียนภาษาอังกฤษผ่านวิดีโอออนไลน์จากประเทศญี่ปุ่นมาต่อยอด โดยช่วงแรกโฟกัสไปที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตอนนั้น GLOBISH อยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังขาดความน่าเชื่อถือ บวกกับทางฝั่งมหาวิทยาลัยก็มองว่ามีหลักสูตรภาษาอังกฤษของตัวเองอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ” ชื่นชีวันเล่าถึงในวันเริ่มต้น

หลังจากเป้าหมายแรกไม่สำเร็จ GLOBISH เลยเบนเข็มมาจับกลุ่มคนพิการ หวังจะเพิ่มทักษะให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ แต่ปรากฏว่า แม้จะเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษได้จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนพิการจะมีงานทำ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นข้อจำกัด

ล้มเหลวเพื่อเรียนรู้และไปต่อ
หลังจากล้มเหลวมา 2 ครั้ง GLOBISH ก็มาถึงจุดเปลี่ยน หลังพบว่า ฐานลูกค้า คือ พนักงานบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจจะไม่ได้โฟกัสมาตั้งแต่ต้น แต่กลับมีการเข้ามาใช้บริการซ้ำและบอกต่อสูง เพราะ Pain Point ของคนกลุ่มนี้คือ ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการทำงานอย่างจริงจัง ซึ่ง GLOBISH ตอบโจทย์ทั้งในแง่ความสะดวกสบาย เพราะเรียนผ่านระบบวิดีโอคอล สามารถเรียนจากที่ไหน เวลาไหนก็ได้ มีครูต่างชาติให้เลือกฝึกภาษาจากทั้งเอเชียและยุโรป

จากจุดนั้น GLOBISH จึงค่อย ๆ ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ และผันตัวเองสู่การเป็นสตาร์ทอัพ แทนที่จะใช้แพลตฟอร์มของคนอื่นเป็นช่องทางในการเรียนการสอน มาสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง

“เหตุผลสำคัญคือ เราต้องควบคุมคุณภาพให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่แพลตฟอร์มที่ใช้ในการเรียนการสอนไปจนถึงการออกแบบรูปแบบการเรียน ที่เน้นการเรียนภาษาเพื่อการทำงานและการพูดแบบจริงจัง โดยหากเป็นคลาสเรียนแบบตัวต่อตัว จะกำหนดเวลาไว้ที่ประมาณ 25 นาที เพราะมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พบว่าผู้เรียนจะมีสมาธิและสามารถเรียนรู้ได้ดีสุดในช่วงเวลา 25 นาทีแรกนั่นเอง”

ติดปีกธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
พอเจอกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ GLOBISH ยังติดปีกให้ธุรกิจด้วยการทำการตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้นยังมีการขยายบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มพ่อแม่ที่มาเรียนภาษาอังกฤษเพราะอยากคุยกับลูก ๆ ทาง GLOBISH จึงเกิดไอเดียขยายกลุ่มเป้าหมายจากวัยทำงานไปสู่กลุ่มเด็กอายุ 7-14 ปีด้วย

กระทั่งมาเจอวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะแม้สถานการณ์ของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้เทรนด์การเรียนออนไลน์เป็นที่นิยม แต่ก็ทำให้มีคู่แข่งที่เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น บวกกับกำลังการใช้จ่ายของผู้คนก็ได้รับผลกระทบ

“แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 GLOBISH ก็ยังเติบโต มีการขยายไปสู่ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร ในส่วนของกลุ่มเด็ก จากเดิมที่มีเฉพาะตัวต่อตัวก็เพิ่มแบบเรียนเป็นกลุ่ม มี GLOBISH For School และขยายพอร์ตไปจับกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น รวมทั้งขยายแพลตฟอร์มไปในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย และบังกลาเทศ ซึ่งสองประเทศหลังนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และหาพาร์ตเนอร์”

วางอนาคตเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มสอนภาษา
สำหรับอนาคตของ GLOBISH นั้น ชื่นชีวันกล่าวว่า “อยากแก้ปัญหาการศึกษาภาษาอังกฤษในระบบก่อน เพราะหากการศึกษาในระบบดี เด็ก ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษ ส่วนในภาพใหญ่ที่ต้องการเห็นคือ ให้ GLOBISH เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาตนเองในทุกมิติ อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องภาษา แต่รวมถึง Soft Skill ต่าง ๆ”

“วันนี้ถ้าถามว่า GLOBISH ประสบความสำเร็จหรือยัง ต้องบอกว่านิยามคำว่าสำเร็จก็อาจจะมีหลายมิติ ถามมองว่า วันนี้เราสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา มีความน่าเชื่อถือในการไปติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ลึก ๆ ยังต้องการให้แพลตฟอร์มของเราเข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้น ในราคาที่เข้าถึงได้มากกว่านี้ ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ การ Scale up ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะเรามีแรงผลักดันว่า ต้องการให้ใครก็ตามที่อยากจะพัฒนาตัวเองได้มีโอกาส ซึ่ง GLOBISH ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสนั้นให้เกิดขึ้น”

สตร(ลับ)สำหรับสตาร์ทอัพ
สำหรับสิ่งที่ต้องการฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ๆ คือ อย่ายึดติดกับไอเดียที่มีมากจนเกินไป แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจลูกค้า แล้วค่อย ๆ ปรับ Business Model ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า

“อย่างที่บอกว่า GLOBISH เองก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ ซึ่งโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในหลาย ๆ ด้าน อย่างช่วงแรก ๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจ ทาง NIA มีโครงการคูปองนวัตกรรม ซึ่งเหมือนเป็นการให้งบมาลองทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อตรวจสอบไอเดียหรือความคิด ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจไม่กล้าเสียง เช่น การทำการตลาด หรือการจ้างคน นอกจากนั้น NIA ยังให้ความรู้ พร้อมทั้งช่วยต่อยอดด้านคอนเนกชัน อย่างการจัดงาน Startup Thailand ที่ทำให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสพบปะกับสตาร์ทอัพเจ้าอื่น ๆ และนักลงทุน รวมถึงมีการจัดคอร์ส PPCIL ที่ให้ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสตาร์ทอัพมาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสและประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ GLOBISH ได้ที่: GLOBISH และ Facebook

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook
ถอดบทเรียน GLOBISH แพลตฟอร์มสอนภาษาอังกฤษ ที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ โดยขอเป็นประตูบานสำคัญในการเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงโลกแห่งการเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดแค่ภาษาอังกฤษ แต่รวมถึงการพัฒนาตัวเองในทุกรูปแบบ

EasyRice

EASY RICE DIGITAL TECHNOLOGY เทคโนโลยีทดสอบพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

EASY RICE DIGITAL TECHNOLOGY เทคโนโลยีทดสอบพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

Easy Rice Digital Technology เทคโนโลยีทดสอบพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

ไม่ว่าจะในยุคหรือในสมัยไหน อาหารและเครื่องบริโภคคือสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงของมนุษยชาติมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ประมาณการกันว่า ภายในปี 2050 จะต้องมีการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิมให้ได้ถึง 56% เพื่อให้พ้นจากสภาวะ “ขาดแคลนอาหาร” ตอกย้ำถึงความสำคัญของปัจจัยนี้อย่างเข้มข้น หากแต่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพของอาหารก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะปริมาณอาหารจะมากเพียงใด หากคุณภาพที่มีไม่ได้มาตรฐาน ย่อมไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน

นี่คือจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของคุณภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Easy Rice Digital Technology และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทดสอบคุณภาพอาหาร เพื่อให้ความมั่นคงทางอาหารยังคงอยู่ต่อเนื่อง ยั่งยืนสืบไป

ตรวจสอบอาหารเพื่อลดงานและความผิดพลาดในกระบวนการ
ในบรรดาอาหารที่มีอยู่บนโลกนั้น อาหารหลักอย่างข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี และกาแฟ คือสิ่งที่มีผู้คนบริโภคเป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบจึงต้องมีความเข้มข้นและจริงจังเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ผลผลิตที่ได้มาตรฐานที่สุด และเพื่อให้ได้ปริมาณที่มากที่สุด คือกระบวนการที่ต้องแข่งขันกับเวลา ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี

เทคโนโลยีของ Easy Rice Digital Technology จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อกลไกดังกล่าว “เราพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ทดสอบคุณภาพอาหารหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี กาแฟ ซึ่งในตอนนี้เราเน้นไปที่ข้าว อันเป็นอาหารหลักของประเทศไทย และพัฒนาเทคโนโลยีออกมาสองตัวหลัก คือ ตัวตรวจสอบพันธุ์ข้าวและตัวตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งนอกเหนือจากจะทำให้กระบวนการดังกล่าวมีความรวดเร็วขึ้น ยังช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการใช้คนเป็นแรงงาน” คุณภูวินทร์กล่าว

การใช้แรงงานคนมีข้อจำกัดอย่างมาก ทั้งกระบวนการจดจำสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องเรียนรู้นาน การคัดเลือกด้วยมือที่ช้า และการตรวจสุ่มที่ไม่สามารถทำได้อย่างถี่ถ้วน การมีเครื่องมือที่ช่วยให้กระบวนการเหล่านี้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง “สมมติว่าผมอยากจะส่งออกข้าว 100 ตัน มีจำนวนหนึ่งล้านเมล็ด การตรวจสอบโดยคน แม้จะมีการทดสอบทีละเมล็ด แต่ก็ไม่เพียงพอเมื่อมีการตรวจสอบในลักษณะของการสุ่มตรวจหรือ Sample Size เรียกว่าข้อมูลไม่มากเพียงพอในเชิงสถิติ ข้อมูลไม่ตรงกัน หลายครั้งทำให้เกิดการตีกลับ การใช้เครื่องมือก็จะช่วยลดความผิดพลาดและเพิ่มจำนวนข้อมูลในเชิงสถิติได้” คุณภูวินทร์อธิบาย

ข้าวคือปัจจัยสำคัญ
ไม่เว้นแม้แต่วันที่เกิดวิกฤติโรคระบาด บริษัท Easy Rice Digital Technology เริ่มก่อตั้งในปี 2019 คำถามสำคัญซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งคือการที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติและยืนหยัดขยายตัวมาได้จนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางกลุ่มธุรกิจที่ล้มหายตายจาก ว่ามีแนวทางหรือหลักการอย่างไร ซึ่งคุณภูวินทร์ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจดังนี้ “สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญเลยคือ ข้าวเป็นอาหารหลัก ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติใดก็ตาม คนก็ยังต้องบริโภคข้าว และโชคดีที่ความต้องการของการสั่งซื้อตข้าวไม่ตกเหมือนอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงการที่เราประยุกต์วิธีการติดต่อกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อในแบบออนไลน์ การเพิ่มทุนและเงินสนับสนุนที่ทำให้มีสภาพคล่องได้มากพอ ทำให้สามารถผ่านช่วงเวลาดังกล่าวได้”

แม่นยำในข้อมูลเพื่อการลงทุนที่คุ้มค่า
จากเหตุผลดังกล่าว การระดมทุนของ Easy Rice Digital Technology จึงมีความต่อเนื่อง และสามารถปิดไปที่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ กับบริษัท Startup ระดับเริ่มต้น แต่ก็เช่นเดียวกับความจำเป็นทางด้านอาหาร ความแม่นยำทางข้อมูลก็เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันการตัดสินใจของเหล่าผู้ลงทุน เห็นภาพที่ชัดเจนในความคุ้มค่าได้ดียิ่งขึ้น “ผมมองว่าในทุกวิกฤติมีโอกาสนะ แต่ทั้งนี้เพราะบรรดาผู้ลงทุนทั้งหลายต่างก็ต้องลงทุนและต้องการผลตอบแทนกลับไป เราก็อาศัยในจุดนี้ กับข้อมูลที่เรามีเป็นจุดแข็งในการเสนอเพื่อได้เงินลงทุน”

ชัดเจนในเป้าหมาย ก้าวต่อไปสู่อนาคต
ในขณะนี้ เทคโนโลยีตรวจสอบและคัดเลือกสายพันธุ์อาหารของ Easy Rice Digital Technology มีการนำไปใช้งานใน 250 โรงงานในไทย และอีก 30 โรงงานในเวียดนาม ทั้งยังมีโปรเจ็กต์พัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน อาหารทะเล และที่ร่วมทุนกับทาง Café Amazon ในการตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ซึ่งคุณภูวินทร์มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวต่อไป “ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเลยก็ว่าได้ครับ เพราะตัวโปรเจ็กต์แรกสำเร็จออกวางขายไปแล้ว แต่ก็ยังมีโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่เราได้เริ่มลงทุนและพัฒนา ส่วนเป้าหมายที่ตั้งใจไว้คือการครอบคลุมในตลาด Local และในส่วนของภูมิภาค และระดับโลก”

ซึ่งเป้าหมายที่คุณภูวินทร์มองเอาไว้คือการขยายไปยังเวียดนาม อินเดีย และจีน เพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรให้เกิดความยั่งยืนและมีคุณภาพที่สูงขึ้น ตามความตั้งใจแรกเริ่ม “อุตสาหกรรมนี่ไม่ง่าย มันมีความยากและท้าทายในตัว ถ้าคุณมีความมุ่งมั่นกับเป้าหมาย ทำให้มันใหญ่พอ แล้วมันจะผ่านพ้นฝ่าฟันไปได้ และที่สำคัญ คิดใหญ่ คิดได้ แต่เวลาเริ่มต้น ต้องทำสิ่งที่เป็นไปได้ เก็บเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ แล้วขยายเป็นความสำเร็จใหญ่ต่อเนื่องขึ้นไป” คุณภูวินทร์กล่าวทิ้งท้าย

รายละเอียดเพิ่มเติม Easy Rice ได้ที่: Easy Rice และ Facebook

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook
เมื่อความมั่นคงทางอาหารต้องก้าวควบคู่มากับคุณภาพแห่งการตรวจสอบ ระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในกระบวนการดังกล่าวเพื่อความแม่นยำจึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้ชื่อ Easy Rice Digital Technology

cWallet

CWALLET: ตัวช่วยผู้ประกอบการไทย บริหารจัดการ CARBON FOOTPRINT

cWallet: ตัวช่วยผู้ประกอบการไทย บริหารจัดการ Carbon Footprint

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับภารกิจ ‘Net Zero Emissions’ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 มากขึ้น แน่นอนว่าการจะบรรลุภารกิจดังกล่าวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ แต่หนึ่งในปัญหาที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่กำลังเผชิญคือการขาดตัวช่วยในการบริหารจัดการปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของการประกอบธุรกิจ (Carbon Footprint)

หา Insight ก่อนออกสตาร์ทภารกิจช่วยโลก (ร้อน)
จากจุดนี้เองทำให้ แนท-นัชชา เลิศหัตถศิลป์ ตัดสินใจรวมกลุ่มกับคนที่มีไอเดียตรงกันอีก 8 คน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม cWallet ระบบติดตามและบริหาร Carbon Footprint ช่วยให้องค์กรตรวจสอบและควบคุมการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เติบโตด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในการพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมาย “Net Zero Emissions” ให้ได้ภายในปี 2065

“ก่อนจะลงมือพัฒนาแพลตฟอร์ม ได้ไปคุยกับทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าทิศทางของประเทศไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเราต้องการร้ออินไซต์ของภาคธุรกิจว่าเขาติดปัญหาในส่วนไหน ซึ่งปัญหาที่เจอหลักๆ คือขาดเครื่องมือในการวัดปริมาณ Carbon Footprint โดยที่ผ่านมาต้องใช้วิธีกรอกข้อมูลใส่ตาราง Excel ซึ่งมีความซับซ้อน ผู้ที่กรอกต้องมีความรู้และความเข้าใจ เพราะตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้มีแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่มีถึง 7 ชนิด นอกจากนี้ด้วยจำนวนบุคลากรที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Carbon Footprint มีจำนวนจำกัด ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ สูงตาม”

ตั้งโจทย์พัฒนาแพลตฟอร์มที่ทั้งใช้งานง่ายและสะดวก
พอเจอ Pain Point แบบนี้ โจทย์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มของ cWallet จึงเน้นไปที่การใช้งานที่ง่ายและสะดวก สามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในแพลตฟอร์มจะมี 3 แพ็กเกจหลักๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดเล็ก ที่อาจจะเริ่มต้นจากการทำแบบทดสอบเพื่อประเมินตัวเอง ถ้าเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ก็จะมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นมาช่วยเก็บข้อมูล หรือถ้าสเกลบริษัทใหญ่ จะมีการนำ AI มาตรวจสอบความผิดปกติของการใช้พลังงานหรือปล่อยคาร์บอน จะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ปรับตัวพร้อมรับโอกาสและความท้าทาย
อย่างไรก็ตาม ถึงจะทำการบ้านมาดี แต่พอได้เข้าไปคุยกับลูกค้าจริงเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา cWallet ก็เจอทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะแม้ภาคธุรกิจของไทยจะตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ได้มีกลุ่มที่ลงมือทำมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐไม่ได้มีข้อบังคับให้ผู้ประกอบการต้องตรวจ Carbon Footprint หรือมีการเรียกเก็บ Carbon Tax เหมือนในต่างประเทศ แต่อย่างน้อยการที่เห็นองค์กรใหญ่ๆ เริ่มออกมาขยับตัว ก็ทำให้ supplier ที่อยู่ใน supply chain ต้องตื่นตัวตาม บวกกับผู้บริโภคยุคนี้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับแบรนด์ที่รักษ์โลก จึงทำให้เห็นว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสพาบริษัทไทยพิชิตภารกิจ Net Zero Emissions

“เป้าหมายของ cWallet คือ อยากพาบริษัทในไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 ล้านบริษัทบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะมี 13,000 บริษัทมาใช้แพลตฟอร์มของ cWallet ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มคำนวณ Carbon Footprint แต่ยังมีบริการที่ช่วยองค์กรลดการปล่อย Carbon Footprint และในอนาคตยังมีแผนจับมือกับพันธมิตร เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาบูรณาการให้ครอบคลุมโดยองค์กรสามารถวางแผนกลยุทธ์ได้ จนไปถึงขั้นตอนปฏิบัติตั้งแต่การประเมิน Feasibility ว่าหากมีการลดใช้กระดาษ ลดใช้ถุงพลาสติก จะลด Carbon Footprint ได้เท่าไหร่ ไปจนถึงการจัดทำโครงการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ หรือการนำเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเข้ามาช่วย แล้วจึงนำข้อมูลมาประมวลผลและแสดงผลไว้บนแพลตฟอร์มเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดูแลสิ่งแวดล้อมขององค์กร ง่ายต่อการตรวจสอบ และสามารถนำไปขอใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย”

ถอดบทเรียนของการเป็นสตาร์ทอัพ
ถามว่าอะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นสตาร์ทอัพ นัชชาบอกว่า การเป็นสตาร์ทอัพสอนให้รู้ว่า ไม่มีไอเดียไหนไม่ดี แต่จุดตัดที่สำคัญ คือเราได้ลงมือหรือเปล่า ซึ่งการจะทำให้ไอเดียเป็นจริงได้ เราต้องลองนำไอเดียมาหาฟีดแบ็กกับกลุ่มลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าไอเดียนั้นสามารถแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์การใช้งานได้จริงหรือเปล่า

“สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มีไอเดียที่ดี แต่ปัญหาที่กำลังโฟกัสอยู่นั้นเป็นปัญหาใหญ่จริงไหม ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น พอมีไอเดีย เราต้องลองเอาไปคุยกับคนที่อยู่ในแวดวงนั้นจริงๆ เพื่อนำฟีดแบ็กมาปรับปรุงและพัฒนาต่อ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของสตาร์ทอัพคือ ต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้น การมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่ดีและมี Mentor ที่ดีมาช่วยติดปีกให้ธุรกิจก็สำคัญ”

สำหรับ cWallet เองในตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะทำแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Carbon Footprint ตั้งใจว่าจะทำตลาดสำหรับซื้อ-ขายคาร์บอน แต่พอไปคุยกับผู้ประกอบการจริง ถึงรู้ว่าปัญหาของพวกเขาคือยังไม่รู้เลยว่าตัวเองผลิต Carbon Footprint เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ก่อนจะพูดถึงการซื้อ-ขายคาร์บอน ต้องเริ่มจากการคำนวณคาร์บอนก่อน

“เราเลยเริ่มจากตรงนี้ และค่อยๆ ปรับโมเดลธุรกิจมาตลอด ซึ่งก็มีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาเป็น Mentor ช่วยให้ความรู้ คำปรึกษา พาทีมเราไปเจอผู้ประกอบการในหลากหลายสาขา ทำให้พบว่าลูกค้ากลุ่มแรกที่ควรโฟกัสคือกลุ่มผู้ประกอบการส่งออก เนื่องจากต่างประเทศค่อนข้างตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเป้าหมายของ cWallet คือเข้าถึงผู้ประกอบการทุกกลุ่ม แต่อย่าลืมว่าข้อจำกัดของสตาร์ทอัพคือไม่ได้มีทุนเยอะ เพราะฉะนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญ เลือกโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะจ่ายเงินก่อน เพื่อจะได้มีรายได้มาต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไป” นัชชากล่าวทิ้งท้าย

ดูรายละเอียดของ cWallet เพิ่มเติมได้ที่ cwallet.co และ Facebook cwallet.co

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook
เมื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาสำคัญของโลก ทุกภาคส่วนต่างให้ความใส่ใจและร่วมมือ รวมถึงประเทศไทยด้วย! จากจุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวคิดเดียวกันรวมตัวกันภายใต้ชื่อ cWallet แพลตฟอร์มบริหารจัดการ Carbon Footprint ที่จะช่วยภาคธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก

TripNiceDay

Tripniceday แพลตฟอร์มจัดทริปเที่ยวด้วยตัวเอง เพื่อนักเดินทางตัวจริง

Tripniceday แพลตฟอร์มจัดทริปเที่ยวด้วยตัวเอง เพื่อนักเดินทางตัวจริง

ย้อนไปช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ใหม่ๆ เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับต้นๆ สำหรับประเทศไทยก็คือ การท่องเที่ยว แต่ท่ามกลางมรสุมก็เสมือนดาบสองคม มองในมุมกลับก็เป็นช่องว่างให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ทริปไนซ์เดย์ (Tripniceday) แพลตฟอร์มจัดทริปเที่ยวด้วยตัวเองที่สร้างขึ้นโดยฝีมือคนไทย จิรายุ ลิมจินดา อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ริเริ่มแพลตฟอร์มจากการนำเอาวิทยานิพนธ์สมัยเรียนปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจมาต่อยอด

“ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ผู้ประกอบการการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ไม่เคยสนใจต้องพาตัวเองขึ้นมาขายแพ็คเกจทัวร์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะขายได้อยู่แล้ว แต่พอช่วงโควิด-19 ตลาดและพฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยน ผู้คนไม่อยากเที่ยวเป็นกลุ่ม ไม่อยากไปเจอประสบการณ์เดิมๆ และพร้อมที่จะใช้เงินมากขึ้นเพื่อไปเจอประสบการณ์แปลกใหม่ เจอสถานที่ใหม่ๆ” จิรายุเกริ่นถึงจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหันมาจัดทริปการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองกันมากขึ้น และกลายเป็นโอกาสแจ้งเกิดของ ‘ทริปไนซ์เดย์’

ก้าวแรกของธุรกิจ ท่ามกลางแรงต้านรอบด้าน จากไอเดียเริ่มต้น ด้วยการนำเสนอ Business Model นี้ต่ออาจารย์ที่ปรึกษา เพียงแค่รู้สึกว่าเป็นโมเดลที่ทุกคนเข้าถึงได้-เข้าใจง่าย เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของนักท่องเที่ยวให้ได้รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายมากขึ้น ในทางกลับกันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายย่อยได้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเอาประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง

“ทริปไนซ์เดย์ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชน หรือคนตัวเล็กๆ ตามต่างจังหวัดสามารถมีตัวตนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยไม่ต้องใช้เงินทุนมากมาย เพราะเราไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจากฝั่งนักท่องเที่ยวหรือฝั่งผู้ประกอบการ-คู่ค้า”

“ทริปไนซ์เดย์จึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ประชาสัมพันธ์ตัวเองบนโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม เปิดโอกาสสร้างรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวเลือกสถานที่ของพวกเขาเข้าไปในทริปการเดินทางและเดินทางไปที่นั่น”

จากไอเดียในกระดาษส่งอาจารย์ จิรายุเริ่มปั้นทริปไนซ์เดย์ให้กลายเป็นธุรกิจ ท่ามกลางก้าวแรกที่เต็มไปด้วยแรงต้านและการถูกปฏิเสธ ตั้งแต่การหาพันธมิตรทางธุรกิจไปจนถึงการเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทุน หลายคนมองว่าตลาดการจัดทริปเองไม่น่าโตได้จริง

“ยิ่งใครบอกว่าแพลตฟอร์มนี้ไม่น่าจะเวิร์ค ผมยิ่งอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งนี้อาจจะเวิร์คก็ได้ ก็เลยกัดฟันทำมาโดยตลอด ปรับเปลี่ยนโมเดลไปเรื่อยๆ ช่วงแรกท้อเหมือนกัน จะไปหาค่าความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐก็ไม่มีใครเปิดใจเลย สิ่งที่เราทำได้ คือ ทำให้ดีที่สุดในแต่ละวัน จนเริ่มมีค่าความร่วมมือ มีคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มจริงๆ”

จากความพยายามสู่การยกระดับแพลตฟอร์ม จากการลองผิดลองถูก ทริปไนซ์เดย์ค่อยๆ พัฒนาตัวเองจนแบ่ง Business Model ออกเป็น 2 ฝั่ง สำหรับนักท่องเที่ยว เปิดให้ใช้ทริปไนซ์เดย์จัดทริปการเดินทาง

ฝั่งที่ 1 เมื่อนักเดินทางเลือกสถานที่ต้นทางและปลายทาง ระบบจะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้คุณเลือก ช่วยให้การวางแผนการเดินทางสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น โดยรวมข้อมูลที่อัปเดตแล้วมาไว้ในที่เดียว

“การที่นักท่องเที่ยวสักคนเลือกไปเที่ยวเชียงใหม่ จะเสียเวลาหาข้อมูลตามหน้าเว็บไซต์ จะพักที่ไหน เดินทางอย่างไร แต่ละสถานที่เสียค่าเข้าเท่าไร เปิด-ปิดกี่โมง ควรเดินทางไปสถานที่ไหนก่อน ตัวทริปไนซ์เดย์จะเข้ามาทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางตัวหนึ่งรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในที่เดียว”

ฝั่งที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการ ชุมชน ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นฝั่งที่สร้างรายได้ให้กับแพลตฟอร์ม จากการช่วยผู้ประกอบการและคู่ค้าเหล่านี้ขายแพ็คเกจท่องเที่ยวของเขาผ่านบนแพลตฟอร์มทริปไนซ์เดย์ ซึ่งโมเดลนี้เป็นส่วนที่มาภายหลังเมื่อปลายปี 2565

“ช่วงโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดคิดว่าเราเป็นทัวร์จัดทริป คิดว่าเราขายทัวร์ โทรมาซื้อตั๋วทัวร์กับเรา ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะตอบไปว่าถ้าคุณอยากเที่ยวคุณสามารถจัดทริปได้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มทริปไนซ์เดย์ แต่พอมีคนต้องการให้ทริปไนซ์เดย์จัดแพ็คเกจทัวร์มาขายมากๆ เข้า จึงเป็นที่มาของการก่อเกิดโมเดลที่ 2”

“ทริปไนซ์เดย์ยังคงทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว ด้วยการพากลุ่มคนเหล่านี้มาขายแพ็คเกจบนแพลตฟอร์มของเรา เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงผู้ให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น”

จิรายุเล่าถึงความบังเอิญที่กลายมาเป็นการแตกไลน์ธุรกิจของทริปไนซ์เดย์ ปัจจุบันทริปไนซ์เดย์มีผู้ใช้งานมากกว่า 5 หมื่นคนต่อเดือน เฉลี่ยวันละประมาณ 1,500 ราย จัดทริปมาแล้วมากกว่า 7,000 ทริป ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เคยใช้แพลตฟอร์มมาก่อนจะเกิดการใช้ซ้ำ โดยจิรายุพลิกแพลงทุกกลยุทธ์การตลาดเท่าที่จะนึกได้มากกว่า 30-40 โมเดล เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ออกบูธ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ การทำแคมเปญกับภาครัฐ รวมถึงการได้รับทุนจาก NIA ต่อเนื่อง 3 ปี ติดต่อ และการได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน เพื่อให้แพลตฟอร์มเกิดเงินทุนหมุนเวียน

“ถึงวันนี้ผมยังไม่คิดว่าทริปไนซ์เดย์ประสบความสำเร็จ ยังต้องมีการปรับตัวให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงเริ่มเวิร์ค หลักๆ ผมว่าน่าจะมาจากการมียอดผู้ใช้งานจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการลองใช้จริงและเริ่มรู้สึกว่าแพลตฟอร์มของเราทำอะไรได้มากกว่าที่คิด”

ผลการตอบรับที่ดีจากเฟสแรก กลายเป็น Key Learning ให้จิรายุนำไปสู่การยกระดับบริการในเฟสที่สองที่จะเปิดขึ้นในปลายปี 2566 ที่จะเป็นผู้ช่วยจัดทริปการเดินทางอัจฉริยะที่ฉลาดขึ้นกว่าเดิม โดยระบบจะนำเสนอข้อมูลการเดินทางได้ละเอียดขึ้นไปอีกขั้น เช่น แนะนำสถานที่พักรถ, แนะนำเส้นทางที่เดินทางเร็วสุด ง่ายสุด, แนะนำสถานที่ที่คนนิยมไป ไปจนถึงนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่คาดว่าคุณจะชอบ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและอายุของผู้เดินทาง และยกระดับไปไกลถึงขนาดนำเสนอบริการท้องถิ่นที่จะทำให้การท่องเที่ยวสะดวกขึ้น เช่น บริการของฝากถึงที่พักโดยที่คุณไม่ต้องไปซื้อเองให้เหนื่อย, แนะนำบริการรถเช่า, แนะนำบริการทัวร์ท่องเที่ยวท้องถิ่น เป็นต้น

ถ้าแพลตฟอร์มให้ประโยชน์กับผู้คน ก็สามารถไปต่อได้ ถือว่าทริปไนซ์เดย์มาไกลมากจากก้าวแรกที่ไม่มีใครมองเห็นโอกาส กว่าจะมาถึงจุดนี้ จิรายุต้องยึดมั่นในความเชื่ออย่างแรงกล้า อย่างที่เขาบอกว่า “เพราะผมเชื่อว่าเรามีความสามารถมากพอในการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือคนให้สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นได้ การทำทริปไนซ์เดย์เป็นงานที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย นั่นทำให้ผมยังคงทำทริปไนซ์เดย์จนถึงวันนี้”

ก่อนทิ้งท้ายบทเรียนให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ว่า “อย่าท้อ อย่าล้มเลิก คนทุกคนมีความฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาความฝัน ผมเชื่อว่าถ้าแพลตฟอร์มให้ประโยชน์กับผู้คน ก็สามารถไปต่อได้”

ดูรายละเอียดของ Tripniceday เพิ่มเติมได้ที่ https://www.tripniceday.com/ และ https://www.facebook.com/tripniceday

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Caption Facebook

จากไอเดียในรายงานธีสิส สมัยเรียนปริญญาโท กลายมาเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ นี่คือจุดเริ่มต้นของ ทริปไนซ์เดย์ (Tripniceday) แพลตฟอร์มจัดทริปเที่ยวด้วยตัวเองที่สร้างขึ้นโดยฝีมือคนไทย จิรายุ ลิ่มจินดา อดีตโปรแกรมเมอร์ที่เริ่มต้นปั้นสตาร์ทอัพท่องเที่ยวที่มีจุดพลิกจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทริปไนซ์เดย์ ไม่เพียงช่วยให้การวางแผนการเดินทางง่ายขึ้น แต่ยังหวังเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชน หรือคนตัวเล็กๆ ได้ประชาสัมพันธ์ตัวเองบนโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม #GMLive #StartupFounder #Tripniceday #ทริปไนซ์เดย์ #จัดทริปเที่ยวด้วยตัวเอง #จิรายุลิ่มจินดา #NIA #StartupThailand